นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยถึงภาวะสังคมไตรมาส 3/2565 ว่า สถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาส 3 ปีนี้ การจ้างงานขยายตัวได้จากสาขานอกภาคเกษตรกรรม แต่ภาคเกษตรกรรมยังคงหดตัวจากปัญหาอุทกภัย การว่างงานปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับช่วงเวลาปกติ และชั่วโมงการทำงานที่ฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริงยังหดตัวจากผลของเงินเฟ้อ
โดยพบว่า การจ้างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ที่เพิ่มขึ้น 4.3% หรือมีการจ้างงาน 27.2 ล้านคน โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น คือ สาขาค้าส่งค้าปลีก และโรงแรมและภัตตาคาร ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในไตรมาส 3 เพิ่มสูงขึ้นมาก ขณะที่การจ้างงานภาคเกษตรกรรม มีการจ้างงาน 12.4 ล้านคน ลดลง 2.4% จากผลกระทบของอุทกภัย
ส่วนชั่วโมงการทำนปรับตัวดีขึ้น ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติช่วงก่อนการแพร่ระบาดฯ โดยชั่วโมงการทำงานในภาพรวม และภาคเอกชนอยู่ที่ 42.5 และ 46.7 ชั่วโมง/สัปดาห์ ตามลำดับ ด้านค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ค่าจ้างที่แท้จริงหดตัว โดยค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานภาคเอกชน หดตัว 1.7% และค่าจ้างที่แท้จริงในภาพรวม หดตัวถึง 3.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนการว่างงานปรับตัวดีขึ้น โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 4.9 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.23% เช่นเดียวกับการว่างงานในระบบที่ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 1.99% ซึ่งเป็นการลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน และไม่เคยทำงานมาก่อน
โดยประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป คือ 1) การมีแนวทางบรรเทาภาระค่าครองชีพของแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ 2) การเร่งช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ยากจน และ 3) การสนับสนุนให้ผู้ว่างงานเข้าสู่ระบบการอบรม และพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยว
*ภาวะหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 2/65
เลขาธิการสภาพัฒน์ ยังกล่าวถึงภาวะหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 2/65 ว่า ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยมีมูลค่า 14.76 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.5% ลดลงจาก 3.7% ของไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ที่ปรับลดลงเป็น 88.2% จากไตรมาสก่อนหน้า ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และการชะลอตัวของการก่อหนี้ของครัวเรือนจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น
ด้านคุณภาพสินเชื่อในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากมาตรการส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ และการบริหารคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่องของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องเฝ้าระวังคุณภาพสินเชื่อยานยนต์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเริ่มมีการค้างชำระเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จากข้อมูลเครดิตบูโรในไตรมาส 2/65 ยังพบว่า หนี้เสียขยายตัวในระดับสูงในกลุ่มลูกหนี้อายุตั้งแต่ 41 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มสูงอายุ และลูกหนี้ NPLs จากผลกระทบของโควิด-19
ในระยะถัดไป มีปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือน ได้แก่ 1) ภาระค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น 2) ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมีแนวโน้มก่อหนี้เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนเพิ่มขึ้น และ 3) อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นายดนุชา กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้มีประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ คือ 1. การเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อยานยนต์กลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เสีย เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 2. การมีมาตรการสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาอุทกภัย และ 3. การมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประชาชน
*ประเด็นทางสังคมในด้านอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก และโรคไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตกลุ่มต่าง ๆ และต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจะต้องรักษาระดับการป้องกันโรคส่วนบุคคลและเข้ารับวัคซีนอย่างต่อเนื่อง
- การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น ซึ่งยังคงต้องให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง และเร่งดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ขายอย่างเข้มงวด
- คดีอาญาโดยรวมลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดยาเสพติดในหลายพื้นที่ จากการที่นักค้ายาเสพติดปรับกลยุทธ์การค้ายาเสพติด รวมทั้งการกวาดล้างแหล่งจำหน่ายอาวุธปืนเถื่อน และควบคุมผู้ครอบครองอาวุธปืนถูกกฎหมายอย่างเคร่งครัด
- การเกิดอุบัติเหตุทางบกและจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง 2.6% และ 3.0% ตามลำดับ การบังคับใช้กฎหมายควบคุมการใช้ความเร็วตามกฎหมายที่กำหนด จะสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้
- การรับเรื่องร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การติดตามและเฝ้าระวังไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อการหลอกให้เปิดบัญชีม้า และปัญหาการเอาเปรียบผู้บริโภค เมื่อผู้ประกอบการธุรกิจร้านค้าต่าง ๆ ละเลยการแสดงราคาสินค้าและบริการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 65)
Tags: จ้างงาน, ดนุชา พิชยนันท์, ท่องเที่ยว, สภาพัฒน์, สศช., หนี้ครัวเรือน