นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 65 จะขยายตัวได้ 3.4% ขณะที่ปี 66 จะขยายตัวได้ 3.6% ลดลงจากคาดการณ์เดิม 0.7% จากการชะลอตัวของอุปสงค์โลกที่เกิดเร็วกว่าที่คาด แต่ว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังเป็นปัจจัยบวกหลักในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
ขณะที่ไตรมาส 3/65 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด ส่งผลให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับไปสู่การเติบโตก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ได้เร็วขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยก็ยังตามหลังประเทศอื่นในอาเซียน เช่น เวียดนาม ที่มีการฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเยอะที่สุดในภูมิภาค ซึ่งคาดว่าการท่องเที่ยวของไทยจะกลับมาสู่ระดับปกติได้ในปี 67
ในปีหน้าคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเป็นบวก ขณะที่หนี้สาธารณะได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ที่ระดับ 61.1% ต่อจีดีพีในปีงบประมาณ 65 แต่ก็ยังมีแรงกดดันเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ก่อนที่จะชะลอตัวลง โดยคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในระดับสูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-2% ในช่วงครึ่งแรกของปี 66 โดยราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูงมานาน อาจทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น ทำให้พื้นที่การคลังลดลง
สำหรับการดำเนินมาตรการทางการคลังจะช่วยบรรเทาผลกระทบของวิกฤติที่มีต่อสวัสดิการของครัวเรือนได้อย่างมาก แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวก็คาดว่าความยากจนจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.6% ในปีนี้ จาก 6.3% ในปี 64 เนื่องจากมาตรการบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 จะสิ้นสุดลงท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันผลกระทบด้านลบอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงราคาพลังงานที่สูงขึ้น อาจทำให้พื้นที่ทางการคลังลดลง เว้นแต่จะมีการนำมาตรการช่วยเหลือทางสังคมที่เจาะจงกลุ่มเป้าหมายมาใช้มากขึ้น
“เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการในการใช้จ่าย ในขณะที่ยังมีความจำเป็นต้องปรับปรุงผลกระทบของนโยบายการคลัง ในด้านการกระจายความเท่าเทียม และเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ดังนั้นการใช้จ่ายภาครัฐที่มีประสิทธิภาพและตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งความพยายามในการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินการ” นายเกียรติพงศ์ กล่าว
ด้านนายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังกลับเข้าสู่เส้นทางการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงหลังจากการระบาดของโควิด-19 การเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้เพียงพอสำหรับความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และเพื่อรองรับผลกระทบด้านลบอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องดำเนินการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ธ.ค. 65)
Tags: GDP, ธนาคารโลก, เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา, เวิลด์แบงก์, เวียดนาม, เศรษฐกิจไทย