น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2566 – 2570 เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ส่งเสริมให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน พ.ศ. 2580
พร้อมทั้งเห็นชอบร่างแผนระยะ 5 ปี ซึ่งอยู่ภายใต้ร่างกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ 2 ฉบับ คือ 1.ร่างแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ.2566 – 2570 และ 2.ร่างแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ.2566 – 2570 ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
– ฉบับแรก ร่างกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2566 – 2570 เป็นการกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ “สานพลังการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย พลิกโฉมให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่า และพร้อมก้าวสู่อนาคต” โดยมีเป้าประสงค์หลัก คือ 1) คนไทยมีสมรรถนะและทักษะสูงเพียงพอ 2) เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 3) สังคมไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก ร่างกรอบนโยบายนี้ จะขับเคลื่อนภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่า และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต แผนงานที่สำคัญ เช่น พัฒนาระบบเศรษฐกิจ BCG พัฒนาและประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ พัฒนาระบบโลจิสติกส์และระบบราง
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก แผนงานที่สำคัญ เช่น พัฒนาเมืองน่าอยู่ มุ่งเน้นการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต แผนงานที่สำคัญ เช่น พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และบริการแห่งอนาคต
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคน สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน แผนงานที่สำคัญ เช่น พลิกโฉมระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต พลิกโฉมมหาวิทยาลัยให้เป็นเลิศตามบทบาทการสร้างกำลังคน ยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talent)
– ฉบับที่สอง คือ ร่างแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ.2566 – 2570 มีวิสัยทัศน์ คือ “อุดมศึกษาสร้างคน สร้างปัญญา ปลูกฝังคุณธรรมเพื่อพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน” ดำเนินการภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์ คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาศักยภาพคน (Capacity Building) ประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ 1)การจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต 2)ยกระดับคุณภาพการศึกษาและสมรรถนะของกำลังคน 3)การสร้างเสริมบุคลากรคุณภาพสูง
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมระบบนิเวศวิจัยอุดมศึกษา (Research Ecosystem Building) ประกอบด้วย 2 แนวทาง ได้แก่ 1)การวิจัย นวัตกรรม และการถ่ายทอดเทคโนโลยี 2)พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือปัจจัยเอื้อภายในสถาบันอุดมศึกษาที่ส่งเสริมการพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 3 จัดระบบอุดมศึกษาใหม่ (Higher Education Transformation) ประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ 1)การบริหารจัดการและธรรมาภิบาล 2)การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาตามอัตลักษณ์ที่หลากหลาย 3)ส่งเสริมความมั่นคงทางการเงินในระบบอุดมศึกษา 4)ส่งเสริมการอุดมศึกษาดิจิทัล
นอกจากนี้ ยังมีแผนเร่งด่วนภายใน 3 ปี ที่กำหนดเป็น 7 นโยบายหลัก เช่น 1.นโยบายด้านกำลังคนสมรรถนะและศักยภาพสูง ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG และอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2.นโยบายด้านวิสาหกิจชุมชน ระบบเศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม รวมถึง SMEs ธุรกิจ ฐานนวัตกรรม และ Startup 3) การรองรับสังคมสูงวัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยสมบูรณ์
– ฉบับที่สาม คือ ร่างแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ.2566 – 2570 มีวิสัยทัศน์ “พลิกโฉมประเทศให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และพร้อมสำหรับโลกอนาคต โดยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างมูลค่าและคุณค่าด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย โดยการสานพลังหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม” ดำเนินการภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ คือ
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่า แผนงาน เช่น พัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า พัฒนา การผลิตและการส่งออกอาหาร ผลไม้ไทย และสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน แผนงาน เช่น พัฒนาผู้สูงอายุในภาคชนบทและเมือง เพิ่มโอกาสและลดช่องว่างของการเข้าถึงการพัฒนาอาชีพ การศึกษาเรียนรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค แผนงาน เช่น พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าสู่อนาคต อวกาศ รวมทั้งดาวเทียม
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แผนงาน เช่น พัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย พัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ และนวัตกรที่มีทักษะสูงให้มีจำนวนมากขึ้น และตรงกับความต้องการของประเทศ
“กรอบนโยบายที่กำหนดครั้งนี้ ถือเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่จะพลิกโฉม และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยบูรณาการทุกภาคส่วน รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับเอกชนและภาคี ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำเทคโนโลยีในระดับสากล และกำลังคนของประเทศ มีผลิตภาพและศักยภาพที่สูงขึ้น” น.ส.รัชดา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ธ.ค. 65)
Tags: การศึกษา, ประชุมครม., รัชดา ธนาดิเรก, อุดมศึกษา