ญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ได้ทำข้อตกลงในหลักการ เพื่อร่วมมือกับสหรัฐในการควบคุมการส่งออกการส่งออกอุปกรณ์ผลิตชิปล้ำสมัยให้กับจีน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความพยายามในการพัฒนาเทคโนโลยีชิปของจีน
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ทั้งเนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่นจะประกาศมาตรการจำกัดการส่งออกอุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ล้ำสมัยให้กับจีนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ตามที่สหรัฐได้ประกาศใช้เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ เปิดเผยว่ามาตรการนี้มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้เซมิคอนดักเตอร์ล้ำสมัยตกอยู่ในมือของกองทัพจีน
การร่วมมือกันของทั้ง 3 ประเทศจะเป็นการปิดกั้นความสามารถเกือบทั้งหมดของจีนในการซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการผลิตชิป โดยสหรัฐได้สั่งระงับการส่งออกจากบริษัทผู้ผลิตชิปหลายแห่ง อาทิ แอพพลาย แมทีเรียลส์ อิงค์ (Applied Materials Inc), แลม รีเสิร์ช คอร์ป (Lam Research Corp) และแคเอลเอ คอร์ฟ (KLA Corp) รวมไปถึงบริษัท โตเกียว อิเล็กตรอน (Tokyo Electron) ของญี่ปุ่น และเอเอสเอ็มแอล โฮลดิ้ง เอ็นวี (ASML Holding NV) บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านลิโธกราฟฟีของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งทั้ง 2 แห่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรายสำคัญที่สหรัฐต้องการให้ร่วมมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว และจะเป็นตัวแปรสำคัญอย่างมากสำหรับญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ในการปรับใช้มาตรการจำกัดการส่งออก
ขณะที่เมื่อวานนี้ (12 ธ.ค.) กระทรวงพาณิชย์ของจีนเปิดเผยว่า ทางการจีนได้ยื่นเรื่องข้อพิพาทเกี่ยวกับการควบคุมการส่งออกของสหรัฐให้กับองค์การการค้าโลก (WTO) โดยชี้แจงว่าการระงับการส่งออกของสหรัฐเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และการอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐก็เป็นที่น่าข้องใจเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ธ.ค. 65)
Tags: การส่งออก, จีน, ชิป, ญี่ปุ่น, สหรัฐ, เทคโนโลยีชิป, เนเธอร์แลนด์