นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลการคัดเลือกหุ้นเข้าสู่ดัชนีความยั่งยืน DJSI (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ประจำปี 2565 โดย S&P Global พบว่ามี บจ. ไทยถึง 26 บริษัท ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่ดัชนี ได้แก่ ADVANC, AOT, BANPU, BDMS, BJC, BTS, CPALL, CPF, CPN, CRC, DELTA, EGCO, GPSC, HMPRO, IRPC, IVL, KBANK, MINT, PTT, PTTGC, SCB, SCC, SCGP, TOP, TRUE และ TU ในจำนวนนี้มี บจ. ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ CRC, GPSC และ SCGP และ 11 แห่ง อยู่ในดัชนีกลุ่ม DJSI World ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกที่มีศักยภาพทั้งในด้านขนาดและผลการประเมินความยั่งยืน ได้แก่ ADVANC, AOT, CPALL, CPN, DELTA, IVL, KBANK, PTT, PTTGC, SCB และ SCC โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่มี บจ. ได้รับคัดเลือกสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 สะท้อนถึง บจ. ไทยมุ่งมั่นให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างสมดุลทั้งธุรกิจและสังคม สร้างความเชื่อมั่นในสายตาผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
ในขณะที่ดัชนี FTSE4Good Index และ MSCI ESG Universal Index มี บจ. อยู่ในดัชนีฯ จำนวน 40 และ 42 บริษัทตามลำดับ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในอาเซียนเช่นเดียวกัน สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและการให้ความสำคัญของ บจ. ในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เตรียมความพร้อมให้บริษัทก้าวไปสู่ดัชนีสากลเพื่อสร้างความน่าสนใจในการลงทุน รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูล ESG Information ของผู้ประเมินผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนระดับโลก (Sustainability Rating Agencies) ให้ผู้ลงทุนไทยสามารถติดตามข้อมูลได้โดยสะดวก
การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG นอกจากจะเป็นการบริหารความเสี่ยงซึ่งถือเป็นเกราะป้องกันธุรกิจให้ก้าวผ่านวิกฤตต่างๆ ได้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสและเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน และสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอีกด้วย การที่ บจ. ไทยได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืน DJSI เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจให้ความสำคัญทั้งการสร้างผลประกอบการที่ดีควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้าน ESG
ซึ่งการประเมินปีล่าสุด S&P Global ได้ยกระดับมาตรฐานหลายประเด็น เช่น การดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งสู่การลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Commitment) การเปิดเผยข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามมาตรฐาน Task Force on Climate-Related Financial Disclosures (TCFD) และการดำเนินงานโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เป็นต้น
ดังนั้น บริษัทที่มีการปรับตัวในกระบวนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทานให้สอดรับกับประเด็นดังกล่าว นอกจากจะสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับตัวธุรกิจเองแล้ว ยังช่วยเพิ่มความน่าสนใจของตลาดทุนไทยและความน่าเชื่อถือในสายตาของผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ธ.ค. 65)
Tags: DJSI, SET, ตลท., ภากร ปีตธวัชชัย, หุ้นไทย