นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ คาดการณ์ว่า การส่งออกในปี 66 อาจชะลอลงบ้างจากเศรษฐกิจถดถอยของคู่ค้าบางประเทศ แต่อัตราการขยายตัวของการลงทุนต่างประเทศยังเพิ่มขึ้นในปีหน้า ขณะที่การท่องเที่ยวในปีหน้าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ตลาดแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่อง รวมทั้งธุรกิจการบินจะเกิดภาวะตึงตัว ไม่สามารถหา “พนักงาน” หรือ “คนทำงาน” ได้ทันกับการฟื้นตัว
ยกตัวอย่าง ในบางพื้นที่ที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็วมาก เช่น ภูเก็ต มีการขาดแคลนแรงงานเกือบ 18,000 ตำแหน่ง ก่อนหน้านี้ 2 ปีช่วงโควิดระบาด แรงงานจำนวนมากถูกเลิกจ้างในเมืองท่องเที่ยว และส่วนใหญ่กลับคืนถิ่น หากกลุ่มคนเหล่านี้จะกลับมาทำงานในแหล่งท่องเที่ยวอีก จำเป็นต้องปรับค่าจ้างค่าตอบแทนให้ดึงดูดมากกว่าเดิม หากค่าจ้างไม่ดึงดูด แรงงานที่มีทักษะอาจสมัครใจอยู่ในภูมิลำเนาต่อไป
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า อีกวิธีหนึ่งในการบรรเทาปัญหาแรงงานในกิจการท่องเที่ยว คือ การให้พนักงานทำโอทีเพิ่มเติม การนำระบบอัตโนมัติให้บริการ การนำนักศึกษาในพื้นที่มาฝึกอบรมและสามารถทำงานได้ รวมทั้งการเปิดรับแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติม ส่วนการเพิ่มพนักงานเอาต์ซอร์ซของธุรกิจท่องเที่ยวและการบิน เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการประกอบกิจการ แต่พนักงานหรือแรงงานเอาต์ซอร์ซก็มักไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ และความมั่นคงในงาน
ดังนั้นการจ้างงานแบบเอาต์ซอร์ซในกิจการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการบิน ควรปรับปรุงให้มีมาตรฐานแรงงานที่ดีขึ้นในอนาคต ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเข้าขั้นวิกฤติ มักเกิดในกิจการหรือองค์กรที่ปรับลดคนมากเกินไปในช่วงที่ผ่านมาเพื่อประหยัดต้นทุนและลดการขาดทุนในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโควิด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ธ.ค. 65)
Tags: lifestyle, ค่าจ้าง, ท่องเที่ยว, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เศรษฐกิจไทย, แรงงาน