นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ. พาณิชย์) ว่า ได้ประชุมร่วมกับภาคเอกชน ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อเตรียมการส่งออกปีหน้า รองรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวและปัญหาอื่นๆ อาทิ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกโตชะลอ, ความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีผลกระทบต่อราคาพลังงานและความมั่นคงทางอาหารของโลก , นโยบายซีโร่โควิดของจีน , อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เป็นต้น
“วันนี้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษ ให้การส่งออกปีหน้าตัวเลขยังคงดีที่สุด เท่าที่จะจับมือกันระหว่างภาครัฐกับเอกชนของไทยเดินหน้าด้วยกัน วันนี้ที่ประชุมมีมติให้ตั้งวอร์รูมขึ้น เป็นวอร์รูม กรอ.พาณิชย์ ที่ประกอบด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนทั้งหมด เพื่อทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดตลอดปี 66 รองรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และปัญหายืดเยื้อที่ค้างคาจากปี 64-65”
นายจุรินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีข้อสรุปเบื้องต้น คือ ตั้งเป้าบุกตลาดที่มีศักยภาพ เพิ่มยอดการส่งออกจากมาตรการปกติที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเป็นกรณีเฉพาะ โดยบุก 3 ตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดเอเชียใต้ และตลาด CLMV โดย 3 ตลาดใหญ่ในปี 65 คาดมียอดการส่งออกรวมประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท และปี 66 จะเพิ่มเป็น 2 ล้านล้านบาท เพิ่มอีก 300,000 ล้านบาท สำหรับเป้าหมาย 3 ตลาด มีดังนี้
1. ตลาดตะวันออกกลาง มุ่ง 3 ตลาดใหญ่ซาอุดิอาระเบีย ยูเออี และกาตาร์ โดยมีสินค้าเป้าหมายสำคัญ คือ อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องปรับอากาศและวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ทั้งนี้ ตั้งเป้าปี 66 เพิ่มตัวเลขส่งออก 3 ประเทศนี้ 20% จาก 8,900 ล้านเหรียญในปี 65 เป็น 10,300 ล้านเหรียญในปี 66 (350,000 ล้านบาท)
2. ตลาดเอเชียใต้ เน้นประเทศสำคัญ 3 ประเทศ คือ อินเดีย บังกลาเทศและเนปาล ทั้งนี้ ตั้งเป้าส่งออกปีหน้าใน 3 ประเทศนี้ โดยตลาดเอเชียใต้ +10% เพิ่มจากปีนี้ที่ 12,000 ล้านเหรียญ เพิ่มเป็น 13,200 ล้านเหรียญ ในปี 66 (450,000 ล้านบาท) สินค้าสำคัญ เช่นเคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น
3. ตลาด CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม ตั้งเป้า +10-15% จาก 28,000 ล้านเหรียญในปีนี้ เป็น 33,500 ล้านเหรียญในปีหน้า (1.14 ล้านล้านบาท) โดยมีสินค้าเป้าหมายสำคัญ เช่น วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเร่งรัดการค้าชายแดน เช่น อาหาร ผลไม้ ผักและสินค้าอื่นเป็นต้น
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบว่า ควรนำคณะไปเยือนประเทศเท่าที่จำเป็นสำคัญ คือ
– UAE (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) จะเป็นประตูสำคัญอีกประตูหนึ่งนอกจากซาอุดิอาระเบีย ส่งสินค้าไปกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
– อินเดีย โดยเฉพาะรัฐคุชราต มีเมืองอาห์เมดาบัด ที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของอินเดีย มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
– มณฑลยูนนาน ซึ่งไทยต้องเร่งรัดทำ Mini FTA เป็นที่ตั้งของด่านสำคัญของจีนคือ ด่านโม่ฮาน ขณะนี้รัฐบาลจีนเห็นชอบเปิดด่านได้แล้ว อาจมีปัญหาอุปสรรคในภาคปฏิบัติ จะเป็นโอกาสเจรจาร่วมกับมณฑล อำนวยความสะดวกการส่งออกสินค้าไทยไปจีนผ่านมณฑลยูนนานคล่องตัวขึ้น
“สุดท้ายที่ประชุมเสนอให้นอกจากแผนงาน FTA ที่เดินหน้า ขณะรอการทำ FTA กับอังกฤษ เราควรเจาะทำ Mini FTA กับเมืองหรือเขตเศรษฐกิจสำคัญของอังกฤษ เป็นการเร่งด่วนต่อไปด้วย และ Mini FTA กับปากีสถาน โดยเฉพาะเมืองลาฮอร์ ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของปากีสถานและสุดท้ายกลุ่มอ่าวอาหรับหรือ JCC ถ้ารอทำ FTA จะใช้เวลา ถ้าเราสามารถเจาะทำ Mini FTA ได้ก่อนจะช่วยตัวเลขการส่งออกได้เร็วขึ้น”
นายจุรินทร์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ธ.ค. 65)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ภาคเอกชน, ส่งออก