นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านการทุจริต ในงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด “ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยต้านโกง” เพื่อร่วมกันแสดงพลังในการต่อต้านการทุจริต แสดงถึงเจตนารมณ์ของทุกภาคส่วนที่มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง พร้อมปลุกกระแสสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตในทุกรูปแบบ และทำให้ประชาชนคนไทยรวมทั้งนานาชาติ ได้รับรู้ผลการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไทย และการแสดงเจตจำนงต่อต้านการทุจริตของทุกภาคส่วน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้วันที่ 9 ธ.ค. ของทุกปี เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล เพื่อให้ประชาคมโลกตระหนักถึงภัยร้ายแรงจากการทุจริต และเพื่อร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ในการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันอย่างจริงจัง
สำหรับประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกของ UN ได้ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบตลอดมา และรัฐบาลได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ตลอดจนภาคประชาสังคม และภาคีเครือข่าย จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากลขึ้น เพื่อร่วมกันแสดงจุดยืนพร้อมกับคนไทยทุกภาคส่วน ที่จะ “ไม่ทำ ไม่ทน และไม่เพิกเฉย” ต่อการทุจริตอีกต่อไป ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในวันนี้ แต่จะต้องอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนไทยทุกคน ในทุกวัน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ได้สะท้อนปัญหาการทุจริตที่เป็นจุดอ่อนของประเทศไทยที่สำคัญ คือ ปัญหาการซื้อขายตำแหน่ง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การเรียกรับสินบน ตลอดจนการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน การไม่สามารถแยกแยะผลประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนตน และความไม่โปร่งใสในการใช้งบประมาณ
ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าการทุจริตเป็นภัยต่อชาติบ้านเมือง ทั้งในการบริหารจัดการภาครัฐ การพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการทำลายภาพลักษณ์ ทำลายความเชื่อมั่นในสายตาประชาชนชาวไทยและชาวโลก ซึ่งทุกคนจะต้องไม่ยอมให้การทุจริตเป็นมรดกบาปตกทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานอีกต่อไป
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและผลักดันให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ สร้างกลไกการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้มีการบรรจุแนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ ลงไปถึงการจัดทำแผนระดับรอง เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมเป็นภาพรวมของประเทศแล้ว เช่น 1. พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการฯ 2. นโยบาย National e-Payment เป็นต้น ที่ช่วยขจัดโอกาสการทุจริต หักหัวคิว เรียกรับสินบน เพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการทำงานของภาครัฐให้สามารถติดตามตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน
นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือ ความไม่ยุติธรรม” ดังนั้นรัฐบาลจึงให้ความสำคัญที่สุดในเรื่องการติดตามนำผู้กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และให้ได้รับโทษตามกฎหมาย ตามพยานหลักฐานที่มีอยู่ โดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอิทธิพลในสังคม ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ จะต้องดำเนินการให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้น
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงสถานการณ์ช่วงวิกฤตโควิด และวิกฤตพลังงานที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยประสบปัญหาคู่ขนาน ซึ่งรัฐบาลได้ผลักดันโครงการช่วยเหลือต่าง ๆ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง ที่ได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ช่วยให้ทุกขั้นตอนมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และนานาชาติให้การยอมรับถึงความสำเร็จนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เพิ่มช่องการรับเรื่องราวร้องเรียน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแส ตรวจสอบการทุจริตในทุกระดับอีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ธ.ค. 65)
Tags: คอร์รัปชัน, ทุจริต, องค์การสหประชาชาติ, อนุชา บูรพชัยศรี