ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์แทบไม่ขยับ ขณะที่นักลงทุนจับตาการส่งสัญญาณทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมสัปดาห์หน้า
ณ เวลา 18.21 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์บวก 1 จุด สู่ระดับ 33,626 จุด
ตลาดจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 13-14 ธ.ค. ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ รวมทั้งถ้อยแถลงของนายพาวเวล ซึ่งจะบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปี 2566
นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมรอบนี้ หลังจากปรับขึ้น 0.75% เป็นจำนวน 4 ครั้งติดต่อกัน ขณะที่นายพาวเวลส่งสัญญาณว่าเฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.
นอกจากนี้ ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทะลุ 5.00% ในกลางปีหน้า หลังการเปิดเผยรายงานการจ้างงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งบ่งชี้ว่าการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟดในช่วงที่ผ่านมายังคงไม่สามารถสกัดความร้อนแรงของตลาดแรงงาน ทำให้มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปีหน้าเพื่อทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงและสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่กรอบ 5.00-5.25% ในเดือนพ.ค.2566 หลังจากก่อนหน้านี้คาดการณ์ที่ระดับ 4.75-5.00%
อย่างไรก็ดี ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ออกรายงานคาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2.00% ในปีหน้า หากสหรัฐเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ทั้งนี้ นายเอริค โรเบิร์ตสัน หัวหน้านักวิจัยระดับโลกของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ออกรายงานชื่อ “เรื่องเซอร์ไพรส์ของตลาดการเงินในปี 2566” หรือ “The financial-market surprises of 2023” โดยได้ระบุถึงเหตุการณ์หลายอย่างที่อาจเกิดขึ้นในปีหน้า ซึ่งตลาดได้มองข้ามไป
หนึ่งในเหตุการณ์ในรายงานดังกล่าวคือ หากเศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอยอย่างรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เฟดอาจจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 2.00%
รายงานระบุว่า เฟดได้ประเมินความเสี่ยงของเงินเฟ้อต่ำเกินไปในปี 2565 ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ยอมรับว่าเงินเฟ้อไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวตามที่เฟดระบุก่อนหน้านี้ ทำให้เฟดต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงในปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2565 ทำให้เฟดมีความเสี่ยงจากการที่เศรษฐกิจอาจเผชิญภาวะถดถอยในปี 2566 ขณะที่เฟดประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจต่ำเกินไปจากการใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน
“แถลงการณ์ของ FOMC มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เน้นความจำเป็นในการขยายเวลาคุมเข้มนโยบายการเงิน ไปสู่ความจำเป็นในการจัดสรรสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจเพื่อหลีกเลี่ยงการทรุดตัวลงอย่างรุนแรง” นายโรเบิร์ตสันระบุในรายงาน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ธ.ค. 65)
Tags: Fed, ดาวโจนส์ฟิวเจอร์, ธนาคารกลางสหรัฐ, เจอโรม พาวเวล, เฟด