น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาได้เดินหน้าลดข้อจำกัดด้านกฎหมายที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการทำธุรกิจและการดำรงชีวิตของประชาชน แก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ล้าสมัย
โดยหนึ่งในกฎหมายที่ส่งผลดีต่อประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง คือกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิวัติดอกเบี้ยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แก้ไขวิธีการคิดดอกเบี้ยใหม่ที่ใช้มานานกว่า 95 ปี เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้
นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การคิดดอกเบี้ยในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อประโยชน์ของประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศได้อย่างยั่งยืน มีความเป็นธรรม คุ้มครองไม่ให้ลูกหนี้ถูกเอาเปรียบ และสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป จึงมีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 (อัตราดอกเบี้ย) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 เม.ย.64 มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราหรือวิธีการที่ก่อให้เกิดภาระแก่ลูกหนี้สูงเกินสมควร โดยมีสาระสำคัญ คือ
1.หากไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในนิติกรรมให้ใช้อัตรา 3% ต่อปี ซึ่งทำให้ชำระดอกเบี้ยลดลงจากเดิม 7.5% เหลือ 3% ต่อปี และเพื่อให้มีการปรับปรุงให้เป็นธรรมกับลูกหนี้ สอดคล้องกับสภาพเหตุการณ์จึงกำหนดให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนทุก 3 ปี ให้ใกล้เคียงกับอัตราเฉลี่ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ด้วย
2.อัตราดอกเบี้ยผิดนัด ปรับเป็นอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่ม 2% ต่อปี ทำให้ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยผิดนัดอยู่ที่ 5% ต่อปี ลดจากเดิม 7.5% ต่อปี
3.กำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใดงวดหนึ่ง เจ้าหนี้คำนวณดอกเบี้ยผิดนัดได้เฉพาะจากเงินต้นของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดแล้วเท่านั้น ทำให้ลดภาระดอกเบี้ยเพราะไม่ใช่คิดจากเงินต้นทั้งหมดที่ลูกหนี้ยังค้างชำระอยู่ เป็นการสร้างความเป็นธรรมให้แก่ลูกหนี้ที่ถูกบิดเบือนมานับศตวรรษ
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า การปฏิวัติดอกเบี้ยยังส่งผลดีไปยังดอกเบี้ยในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ในวันที่ 10 ม.ค.66 ประชาชนที่เช่าซื้อยานพาหนะต่างๆ ก็จะได้รับการคิดดอกเบี้ยที่เป็นธรรมมากขึ้นกว่าเดิม ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 โดยมีสาระสำคัญ คือ อัตราดอกเบี้ยจะต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี หรือ Effective Interest Rate โดยเพดานสูงสุดที่กฎหมายกำหนด สำหรับรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกิน 10% ต่อปี รถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกิน 15% ต่อปี และรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกิน 23% ต่อปี
นอกจากนี้ยังกำหนดให้เบี้ยปรับผิดนัดชำระหนี้ต้องไม่เกิน 5% ต่อปี และให้คิดเบี้ยปรับจากยอดหนี้ที่ผิดนัดชำระเท่านั้น ส่วนหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถนำมาคิดเป็นเบี้ยปรับได้ (จากเดิมผู้ประกอบการส่วนใหญ่นำหนี้ทั้งก้อนไปคิดเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้เช่าซื้อ) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับการแก้ไขปรับปรุงประมวลแพ่งและพาณิชย์เรื่องดอกเบี้ยและเบี้ยปรับล่าสุด และเรื่องการคิดดอกเบี้ย ยังให้มีการพิจารณาปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยทุกๆ 3 ปีเพื่อสร้างความเป็นธรรมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจด้วย
“การแก้ไขกฎหมายที่ล้าหลัง คือความใส่ใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นความมุ่งมั่นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการสร้างความยุติธรรมให้มีขึ้นในสังคมให้มากที่สุด เป็นการแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง เพื่อพี่น้องประชาชนจะไม่ต้องทนกับภาระดอกเบี้ยโหดอีกต่อไป อันจะนำไปสู่การใช้ชีวิตและมีเงินทุนในการประกอบอาชีพอื่นๆ ต่อได้” น.ส.ทิพานัน กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ธ.ค. 65)
Tags: กฎหมายดอกเบี้ย, ทิพานัน ศิริชนะ, ประชาชน, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ปลดหนี้, รัฐบาล, อัตราดอกเบี้ย