วิเคราะห์ชี้วิกฤตพลังงานฉุดเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ช่วงเลวร้ายสุดในรอบ 30 ปี

บลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์ฉบับใหม่ระบุว่า เศรษฐกิจโลกกำลังจะเผชิญกับปีที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 30 ปี เนื่องจากวิกฤตการณ์พลังงานที่เป็นผลมาจากสงครามในยูเครนนั้น ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

นายสกอตต์ จอห์นสัน นักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียง 2.4% ในปี 2566 ซึ่งลดลงจากปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.2% และจะเป็นอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2536 โดยไม่นับรวมวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2552 และ 2563

อย่างไรก็ตาม ทิศทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศยังแตกต่างกัน โดยเศรษฐกิจของยูโรโซนจะเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงต้นปี 2566 และเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยในช่วงปลายปี 2566 ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะขยายตัวมากกว่า 5% โดยได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลมีแนวโน้มยุตินโยบายโควิดเป็นศูนย์เร็วกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งการใช้มาตรการฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์

นายจอห์นสันยังกล่าวด้วยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจที่แตกต่างกันนี้จะเห็นได้จากการดำเนินนโยบายการเงินที่สวนทางกัน โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารต่าง ๆ ในยุโรปต่างก็ใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเป็นเวลานานนับปี ขณะที่จีนยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ในสหรัฐนั้น การปรับตัวขึ้นของค่าจ้างจะทำให้เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย ซึ่งทำให้เราคาดว่า เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนแตะระดับสูงสุดที่ 5% และจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2567 ส่วนในยูโรโซนนั้น การชะลอตัวลงของเงินเฟ้อจะทำให้อัตราดอกเบี้ยขั้นสูงสุดปรับตัวลดลง และมีแนวโน้มที่จะทำให้ธนาคารกลางยุโรปปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2566”

“สำหรับในประเทศจีน ซึ่งรัฐบาลเผชิญทั้งความต้องการที่จะใช้นโยบายสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความวิตกกังวลเกี่ยวกับการอ่อนค่าของเงินหยวนนั้น คาดว่าอาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในกรอบที่จำกัด” นายจอห์นสันกล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ธ.ค. 65)

Tags: ,
Back to Top