สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับรายงานการตรวจสอบจากบริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) และตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมพบว่า ในปี 57-61 นางสาวปวีรญา เกื้อขำ (ชื่อเดิม นางสาวรัตตา เกื้อขำ) มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ดังนี้
1. ในฐานะผู้แนะนำการลงทุนได้รับเงินค่าซื้อกองทุนรวมจากผู้ลงทุน 2 ราย แต่ไม่ทำรายการซื้อตามความประสงค์ของลูกค้า นำเงินบางส่วนไปใช้ส่วนตัวและแก้ไขยอดซื้อกองทุนในสมุดบัญชีกองทุนให้ตรงกับจำนวนเงินที่ลูกค้าประสงค์ลงทุน ปลอมลายมือชื่อผู้ลงทุนเพื่อสั่งขายหน่วยลงทุนหลายครั้ง เมื่อเงินค่าขายกองทุนโอนเข้าบัญชีผู้ลงทุน นางสาวปวีรญาจะแจ้งว่าเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนและพาผู้ลงทุนไปถอนเงิน พร้อมกับขอแบ่งเงินบางส่วนโดยอ้างว่าจะนำไปลงทุนต่อ แต่กลับไปซื้อหุ้นในนามตนเอง
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่บริษัทตรวจพบ บริษัทได้ชดใช้เงินแก่ลูกค้ารวมจำนวน 10,717,178.68 บาท
2. ในฐานะตัวแทนประกันชีวิตมีพฤติกรรมไม่สุจริต โดยรับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตจากลูกค้าอีกหนึ่งรายจำนวน 215,000 บาท แต่ไม่นำส่งให้บริษัท
ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า นางสาวปวีรญา ในฐานะผู้แนะนำการลงทุนไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน โดยกระทำมิชอบต่อทรัพย์สินของผู้ลงทุน และในฐานะตัวแทนประกันชีวิตมีพฤติกรรมอันส่อไปในทางไม่สุจริตที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน
ก.ล.ต. จึงเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 และกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบของนางสาวปวีรญาเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในคราวต่อไป เป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค.
ทั้งนี้ ในการพิจารณากำหนดระยะเวลาข้างต้น ก.ล.ต. ได้นำปัจจัยดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาของ ก.ล.ต. ด้วย ได้แก่ บทบาทความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว ผลกระทบ ความเสียหายหรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของ ก.ล.ต. และประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน
ก.ล.ต. ขอเตือนให้ผู้ลงทุนใช้ความระมัดระวังในการลงทุน โดย ก.ล.ต. พบว่า กรณีทุจริตจากการลงทุน มักเกิดจากการที่ผู้ลงทุนไว้วางใจในตัวผู้แนะนำการลงทุนจนละเลยการตรวจสอบรายการธุรกรรมและยอดเงินลงทุนของตนเอง
ดังนั้น ก.ล.ต. จึงขอย้ำให้ผู้ลงทุนคอยหมั่นดูแลและติดตามการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ และควรโอนเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนเข้าบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจแทนการมอบเงินให้ผู้แนะนำการลงทุนดำเนินการแทน เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ธ.ค. 65)
Tags: ก.ล.ต., กรุงเทพประกันชีวิต, ทุจริต, ปวีรญา เกื้อขำ, รัตนา เกื้อขำ, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์