อินโดนีเซียกำลังวางแผนเกี่ยวกับการออกสกุลเงินรูเปียห์ดิจิทัลซึ่งใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน โดยจะเริ่มจากการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารท้องถิ่นภายในประเทศ
โครงการดังกล่าวซึ่งมีชื่อว่า “โปรเจกต์ การูดา” (Project Garuda) ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามครุฑซึ่งเป็นนกในตำนานนั้น เป็นโครงการที่ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) พยายามทดลองทำขึ้นควบคู่กับสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) ด้วยความพยายามที่จะรักษาอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการออกสกุลเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายในยุคดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ BI เพิ่งออกสมุดปกขาวซึ่งชี้แจงรายละเอียดของโครงการดังกล่าว
นายเพอร์รี วาร์จิโย ผู้ว่าการของ BI กล่าวเมื่อวานนี้ (5 ธ.ค.) ว่า เงินรูเปียห์ดิจิทัลเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมแห่งอนาคต โดยการเดินหน้าครั้งนี้จะทำให้อินโดนีเซียอยู่ในแถวหน้าของความพยายามในการพัฒนา CBDC เช่นเดียวกับโครงการอื่น ๆ อาทิ โปรเจกต์ดันบาร์ (Project Dunbar) และโปรเจกต์เอ็มบริดจ์ (Project mBridge) ซึ่ง BI เข้าร่วมด้วย
โครงการสกุลเงินดิจิทัลจะแบ่งออกเป็น 3 เฟส โดยเฟสแรกคือการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงินขนาดใหญ่และธนาคารกลาง เฟสที่สองคือการขยายการใช้งานไปยังตลาดเงินระหว่างธนาคารและการดำเนินการทางการเงิน ส่วนเฟสที่สามหรือเฟสสุดท้ายคือการเปิดให้ใช้งานในกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปสำหรับธุรกรรมทุกประเภทตั้งแต่การโอนเงินไปจนถึงการชำระเงิน
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า BI จะเริ่มโครงการด้วยการจำกัดการใช้งานเฉพาะธนาคารที่เหมาะสมและผ่านการคัดเลือก ซึ่งธนาคารเหล่านี้จะต้องแปลงเงินทุนสำรองที่ฝากไว้กับ BI เพื่อแลกกับเหรียญรูเปียห์ดิจิทัล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ธ.ค. 65)
Tags: ธนาคารกลางอินโดนีเซีย, ธุรกรรมการเงิน, บล็อกเชน, รูเปียห์ดิจิทัล, สกุลเงินรูเปียห์, อินโดนีเซีย