
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์และสังคมแห่งเมลเบิร์น สังกัดมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นของออสเตรเลียได้เผยแพร่รายงานการสำรวจครัวเรือน รายได้ และพลวัตแรงงานในออสเตรเลีย (HILDA) ซึ่งพบว่าชาวออสเตรเลีย 45% รู้สึกว่าชีวิตย่ำแย่ลงเพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ว่างงาน ผู้ทุพพลภาพ และผู้มีปัญหาสุขภาพจิต
รายงานฉบับใหม่ใช้ข้อมูลจนถึงปี 2563 และศึกษาครัวเรือนออสเตรเลียระยะยาวระดับชาติ พบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความไม่มั่นคงในหน้าที่การงานเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบสองทศวรรษ โดยคนงานทั่วประเทศเกือบ 1 ใน 20 (4.5%) ตกงาน และพนักงานเกือบ 1 ใน 10 คน (9.6%) ถูกพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง
อัตราการจ้างงานทั้งชายและหญิงลดลงอย่างรวดเร็วเหลือ 78.3% และ 71.6% ตามลำดับ ขณะสัดส่วนของผู้ว่างงานเพศชายเพิ่มขึ้นจาก 4.0% เป็น 6.3% และเพศหญิงเพิ่มขึ้นจาก 2.9% เป็น 4.0% โดยอัตราการจ้างงานผู้ชายในปี 2565 แตะระดับต่ำสุดและสัดส่วนผู้ว่างงานพุ่งสูงสุดในรอบศตวรรษนี้
ขณะเดียวกันสุขภาพจิตของชาวออสเตรเลียย่ำแย่ลงด้วย โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุ 15-24 ปี และ 25-34 ปี ซึ่งพบว่ามีสุขภาพจิตแย่ลงอย่างมากระหว่างปี 2562-2563
รายงานระบุว่า 30% ของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาต้องหยุดเรียนเพราะโรคระบาดใหญ่ ด้านพ่อแม่ผู้ปกครองมากกว่าครึ่งหนึ่งต้องช่วยสอนหนังสือลูกหลานวัยประถมที่บ้าน และแสดงความเห็นว่าการเรียนรู้ช่วงเกิดโรคระบาดใหญ่เป็นเรื่องเลวร้ายสำหรับเด็ก
อนึ่ง สถาบันฯ เผยแพร่ผลการศึกษาใหม่จากการสำรวจประจำปี เพื่อมอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ของชีวิตชาวออสเตรเลียที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ธ.ค. 65)
Tags: COVID-19, XINHUA, มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น, ออสเตรเลีย, โควิด-19