ผู้บริโภคไทยนิยมซื้อขายสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของวันเดอร์แมน ธอมสัน (Wunderman Thompson) ที่ชี้ว่า 80% ของผู้บริโภคซื้อขายสินค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย และกว่า 60% ปิดการขายในโซเชียลมีเดีย ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการติดต่อสื่อสารและติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้ขยายขอบเขตไปสู่การซื้อสินค้าและบริการมากยิ่งขึ้น รูปแบบการใช้งานและการซื้อขายดังกล่าวเรียกกันว่า “โซเชียลคอมเมิร์ซ” โดยโซเชียลคอมเมิร์ซได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังการระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคหันมานิยมซื้อสินค้าแบบไร้การสัมผัส เพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิตใหม่และมาตรการป้องกันโรคระบาด
ฝั่งพ่อค้าแม่ขายเองจึงหันมาใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียที่สะดวกและรวดเร็วในการแนะนำและขายสินค้า ตั้งแต่ข้าวของราคาหลักสิบไปจนถึงหลักหมื่นหลักแสน เมื่อกระแสการซื้อขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียเฟื่องฟู LINE ประเทศไทย จึงไม่พลาดที่จะเข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า และอนาคตของโซเชียลคอมเมิร์ซในไทยจะเป็นอย่างไร คุณทอม เลอทัด ศุภดิลก ผู้อำนวยการฝ่ายอีคอมเมิร์ซ บริษัท LINE (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมให้ข้อมูลและมุมมอง
“เมื่อพิจารณาจากตัวเลขสถิติพบว่า การซื้อขายสินค้าในโซเชียลมีเดียในประเทศไทยนั้น สูงที่สุดของโลก แล้วการปิดการซื้อขายในโซเชียลมีเดียก็สูงสุดของโลกด้วยเช่นกัน ตัวเลขล่าสุดของวันเดอร์แมน ธอมสัน พบว่า กว่า 80% ผู้คนซื้อขายสินค้ากันจากโซเชียลมีเดีย และกว่า 60% ปิดการขายในโซเชียลมีเดีย พูดง่าย ๆ ก็ใช้ไลน์เนี่ยแหละ จริง ๆ แล้วการซื้อขายออนไลน์ของประเทศไทยเกิดขึ้นมาได้ เพราะโซเชียลมีเดียด้วยซ้ำ”
เลอทัด ศุภดิลก ผู้อำนวยการฝ่ายอีคอมเมิร์ซ บริษัท LINE (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
ปัจจุบันไลน์มีผู้ใช้งานประมาณ 53 ล้านราย โดยผู้ใช้งานนิยมใช้ไลน์ในการติดต่อธุรกิจ และที่มีจำนวนมากที่สุดคือการซื้อขายสินค้า ทั้งที่ที่ผ่านมาไลน์เป็นเพียงเครื่องมือติดต่อสื่อสาร ไม่ได้มีฟีเจอร์เกี่ยวกับการซื้อขายมาก่อน แต่ผู้บริโภคก็ยังเลือกที่จะใช้ไลน์เพื่อซื้อขาย
คุณทอม กล่าวว่า โซเชียลคอมเมิร์ซคือตลาดที่ใหญ่ที่สุดของไทย แม้กระทั่งตอนที่ไลน์ยังไม่เคยทำฟีเจอร์อะไรบางอย่างขึ้นมา เราจึงคิดว่าถึงเวลาที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานผ่านบริการไลน์ชอปปิง (LINE SHOPPING) เพราะเมื่อร้านค้าในไลน์มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นก็จะเริ่มประสบปัญหาด้านการจัดการหลังบ้าน ปัจจุบันไลน์ชอปปิงจึงให้บริการแบบครบวงจร ทั้งในแง่ปิดการขาย หรือการสนับสนุนธุรกิจผ่านการโฆษณา
ที่ผ่านมา ผู้บริโภคจะคุ้นเคยกับการซื้อขายสินค้าผ่าน LINE SHOPPING แต่ปัจจุบันรูปแบบของสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคต้องการใช้งานนั้นมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ โซเชียลคอมเมิร์ซจึงสามารถเข้ามาตอบสนองความต้องการและเป็นมากกว่าช่องทางการค้าปลีก เราจึงเห็นรูปแบบบริการใหม่ ๆ ที่มีเข้ามา เพื่อตอบโจทย์ชีวิตในยุคปัจจุบันแม้กระทั่งอย่างบริการรับจูงน้องหมาก็มีให้ได้ใช้บริการกันผ่านโซเชียลมีเดียอย่างไลน์
สาเหตุที่โซเชียลมีเดียเป็นมากกว่าช่องทางการค้าปลีกนั้น คุณทอมมองว่า เพราะโซเชียลมีเดียมีเรื่องของความสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่สำคัญ หากดูเผิน ๆ โซเชียลมีเดียอาจจะดูเป็นเรื่องของโลกออนไลน์ แต่กลายเป็นว่า ผู้บริโภคนั้นแสวงหาความคุ้นเคยเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคต้องการความสัมพันธ์ระหว่างกันมากยิ่งขึ้นกับกลุ่มคนที่ตนเองเชื่อและไว้ใจ
“โซเชียลมีเดียฟังดูเหมือนการท่องโลกอินเทอร์เน็ตในวงกว้าง แต่จริง ๆ ผมอาจจะไม่ได้อยากเจอคนเยอะ ผมอยากเจอเฉพาะคนที่ผมเคยฟอลโลว์อยู่แล้ว เชื่อใจ เป็นกลุ่มที่คุ้นเคยและไว้ใจ ผมคิดว่านั่นน่าจะเป็นสิ่งที่โดดเด่นของไลน์” คุณทอม กล่าว
ดังนั้น โซเชียลคอมเมิร์ซจึงเป็นตลาดที่มีโอกาสและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในไทย จากเดิมที่เมื่อพูดถึงโซเชียลมีเดีย เราจะนึกถึงเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์ นึกถึงอะไรที่ไม่ใช่แค่สินค้าอุปโภคบริโภค แต่ปัจจุบัน โซเชียลคอมเมิร์ซมีความหลากหลาย ไม่ใช่แค่เรื่องของการค้าปลีก แต่มีฝั่งของบริการพ่วงเข้ามาด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ธ.ค. 65)
Tags: LINE, LINE SHOPPING, Media Talk, SCOOP, อีคอมเมิร์ซ, เลอทัด ศุภดิลก, โซเชียลคอมเมิร์ซ