นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ประเมินว่า การส่งออกของไทยในปี 66 จะขยายตัวได้ราว 2-3% ซึ่งเป็นการเติบโตแบบอัตราหน่วง โดยปีหน้ามีปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา คือ ประเทศจีนจะผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ได้มากน้อยเพียงใด เพราะจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนเรื่องการเดินทาง และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังต้องจับตาดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของหลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ขณะนี้มีการปรับตัวลดลง
ขณะเดียวกัน สรท.ยังกังวลปัจจัยที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทย เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก, ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง และการแข็งค่าของเงินบาท
สำหรับการส่งออกในปี 65 คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 7-8% โดยมองว่าการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ มีแนวโน้มจะชะลอตัว จาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.การชะลอตัวของภาคการผลิตในสหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป และจีน 2.เงินบาทที่เคยเป็นแรงส่งสำคัญต่อภาคการส่งออก จะเห็นได้ว่าในช่วงเดือนพ.ย. และธ.ค. เงินบาทได้กลับมาแข็งค่าขึ้นจากก่อนหน้านี้ค่อนข้างมาก และ 3.ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังทรงตัวสูง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตยังอยู่ในระดับสูง
นายชัยชาญ กล่าวว่า ปัจจัยดังกล่าวทำให้การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้มีความท้าทายอย่างมาก ประกอบกับฐานของมูลค่าการส่งออกในช่วงเดียวกันของปี 64 ถือว่าค่อนข้างสูง โดยในเดือนพ.ย.64 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ราว 23,500 ล้านดอลลาร์ ขณะที่เดือน ธ.ค.64 อยู่ที่ 25,000 ล้านดอลลาร์
“ในช่วงที่เหลือของปี 65 คงเป็นไปได้ยากที่จะทำได้ถึงเดือนละ 25,000 ล้านดอลลาร์ จากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ซึ่งเดือนธ.ค.ปีก่อน เราได้อานิสงส์จากที่การขนส่งชิปสามารถเข้ามาได้ทัน จึงทำให้ในเดือนนั้นเราส่งออกรถยนต์ได้ค่อนข้างมาก จึงทำให้ยอดส่งออกทั้งเดือนธ.ค.ไปแตะถึง 25,000 ล้านดอลลาร์”
ประธาน สรท.ระบุ
ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออก ได้มีข้อเสนอแนะที่สำคัญไปยังภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
- ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ไม่ให้มีความผันผวนเร็วเกินไป
- ด้านต้นทุน ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อประคองการฟื้นตัวภาคธุรกิจและไม่เป็นการซ้ำเติมรายจ่ายของผู้บริโภคและต้นทุนของผู้ประกอบการมากเกินไป และขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้า (FT) ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือน แบบค่อยเป็นค่อยไป
- ด้านสิ่งแวดล้อม ขอให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการยกระดับการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับนโยบาย BCG ของรัฐบาล
- ด้านการค้าระหว่างประเทศ เร่งดำเนินการความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่สำคัญ อาทิ Thai-EU, Thai–UK, Thai-Turkey, ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) (อินเดีย) และความตกลงการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ธ.ค. 65)
Tags: ชัยชาญ เจริญสุข, ส่งออก, ส่งออกสินค้า, สภาผู้ส่งออก, สรท.