นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ออกมาสนับสนุนการเก็บภาษีตลาดทุนและปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงฐานะการคลังของประเทศ บรรเทาปัญหาฐานะทางการคลังที่ต้องมีรายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมสูงขึ้นจากสังคมชราภาพ และการก่อหนี้เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มองว่าการเก็บภาษีจากการขายหุ้น ไม่น่าจะกระทบการลงทุนโดยภาพรวมมากนัก แต่อาจไม่เป็นธรรมต่อนักลงทุนที่ขายหลักทรัพย์แล้วขาดทุน เสนอให้เก็บภาษีกำไร Capital Gain Tax แทนภาษีการขายแทน แม้การเก็บภาษีกำไรจากการลงทุน Capital Gain Tax จะมีความยุ่งยากในการจัดการมากกว่า แต่จะเป็นธรรมกว่า เพราะนักลงทุนที่ลงทุนแล้วขาดทุนจะไม่ต้องเสียภาษี ส่วนผู้ที่ลงทุนแล้วกำไรจากการขาย ก็ต้องเสียภาษีตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด
“การเก็บ Capital Gain Tax แทน Financial Transaction Tax จากการขาย อาจจะทำให้รายได้ภาษีของกระทรวงการคลังลดลงบ้าง แต่ความเป็นธรรมต่อนักลงทุนสำคัญกว่า และกลไก Capital Gain Tax ยังช่วยสร้างความสมดุลในตลาดการเงินและลดความร้อนแรงหรือฟองสบู่จากเงินทุนไหลเข้าได้ ไม่ต่างจาก Financial Transaction Tax (จากการขาย) กลุ่มนักลงทุนในตลาดหุ้นทั้งนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ อยู่ในฐานะทางเศรษฐกิจที่จะเสียภาษีได้ ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโควิด และต้องการมาตรการคลังช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติม” นายอนุสรณ์ ระบุ
นอกจากนี้ เหตุผลอีกประการหนึ่งในการเสนอให้ใช้ Capital Gain Tax แทน เพราะรัฐบาลเก็บภาษีได้ตามเป้าในปี พ.ศ. 2565 จากทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การเก็บจากกำไรจากการลงทุน ย่อมเหมาะสมกว่าการเก็บจากธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ในสถานการณ์ขณะนี้
นายอนุสรณ์ คาดว่าการเก็บภาษีในอัตราที่เหมาะสมที่ระดับ 0.055-0.1% จะไม่ทำให้สภาพคล่องหรือธุรกรรมในตลาดทุนลดลงมากนัก หากกระทรวงคลังตัดสินใจเก็บภาษีจากธุรกรรมการซื้อขายต่อเดือนเกิน 1 ล้านบาท ที่อัตรา 0.1% คาดว่า กระทรวงการคลังน่าจะมีรายได้จากภาษีไม่ต่ำกว่า 15,000-20,000 ล้านบาท แต่จะกระทบสภาพคล่องในตลาดหุ้นและธุรกรรม Trading บ้างในระยะแรก มีผลกระทบต่อรายได้และธุรกิจของกิจการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในระดับหนึ่ง หากกระทรวงการคลังไม่เก็บจากธุรกรรมซื้อขาย และเก็บเป็น Capital gains ในอัตรา 0.05% ในการลงทุนที่ถือครองน้อยกว่า 1 ไตรมาสตามที่ตนเสนอ รายได้จากภาษีจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3,000-8,000 ล้านบาท และรายได้อาจไม่แน่นอนขึ้นกับภาวะตลาด แต่กรณีการเก็บจากกำไรจากการลงทุน แทบจะไม่กระทบสภาพคล่องตลาดและธุรกรรมการซื้อขาย และจะทำให้การพัฒนาตลาดทุนสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างเต็มที่
“ในประเทศไทย ได้มีการยกเว้นภาษีซื้อขายหุ้นมามากกว่า 30 ปีแล้ว และไม่เคยเรียกเก็บในลักษณะ Capital gains Tax เพราะต้องการส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน อย่างไรก็ตาม การไม่จัดเก็บภาษี Capital gains มาเป็นเวลากว่า 30 ปี เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การกระจายความมั่งคั่งไม่ดีนักในระบบเศรษฐกิจไทย การไม่เก็บภาษีผลกำไรจากตลาดหุ้น ทำให้กลุ่มคนที่มีรายได้สูงได้รับการยกเว้นภาษี ทำให้ระบบภาษีไทยไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ขัดกับหลักการการกระจายความมั่งคั่ง กระจายรายได้ หรือการ Redistribution ในระบบเศรษฐกิจ” นายอนุสรณ์กล่าว
พร้อมเสนอให้กรมสรรพากร และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องร่วมพัฒนาระบบที่จะสามารถตรวจสอบได้ว่า นักลงทุนรายใดที่มีปริมาณการซื้อขายที่เข้าข่ายการเสียภาษีดังกล่าว และเมื่อใช้ไประยะหนึ่งแล้ว อาจปรับเปลี่ยนมาตรการนี้ได้หากได้ (ภาษี, เพิ่มการลงทุนระยะยาว) ไม่คุ้มกับเสีย (การลดลงอย่างมากของการลงทุน, การไหลออกของเงินทุน และไม่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุน)
นายอนุสรณ์ มองว่า การเก็บภาษีจากการขายหุ้นจะกระทบนักลงทุนประเภทเก็งกำไรมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มที่ส่งคำสั่งซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรด (High Frequency Trading) กลุ่มนี้จะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของมูลค่าการซื้อขายต่อวัน สมมติว่ามีการขายหุ้นปีละ 1 หมื่นล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีถึง 10 ล้านบาท โดยที่การขายนั้นอาจไม่ได้กำไรก็ตาม ปริมาณการซื้อขายของกลุ่มนี้จะลดลงอย่างชัดเจน แม้จะมีการยกเว้นภาษีสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่กองทุนรวมที่เป็น Passive fund ที่มีขนาดตั้งแต่ 1,000 ล้านขึ้นไป และต้องปรับพอร์ตตามดัชนี พวกกองทุนรวมดัชนี หรือ Index Fund ทั้งหลายจะได้รับผลกระทบจากภาษีการขาย วอลุ่มการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อาจลดลง ดัชนีอาจปรับตัวลงบ้าง และต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรไม่ทำให้ต้นทุนของเงินทุน (Cost of Capital) สูงขึ้น เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมการลงทุน และอาจทำให้กิจการ หรือการควบรวมกิจการ, การปรับโครงสร้าง, การส่งเสริม Venture Capital มีข้อจำกัดมากขึ้น
นอกจากนี้ ผลของการจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้น อาจทำให้เม็ดเงินลงทุนส่วนหนึ่งไหลเข้าไปลงทุนในกองทุนแทน เพราะไม่ต้องเสียภาษี และอาจทำให้ธุรกิจจัดการกองทุนเติบโตมากขึ้น รวมทั้งทำให้นักลงทุนปรับพอร์ตการลงทุนให้เป็นการลงทุนระยะยาวมากขึ้น ลดการเก็งกำไรลง
อย่างไรก็ดี การเก็บภาษีจากการขายหุ้นจะไม่กระทบกองทุนเงินออม เงินลงทุนระยะยาว เพราะกลุ่มนี้ได้รับการยกเว้นภาษี ได้แก่ กองทุนของสำนักงานประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ธ.ค. 65)
Tags: lifestyle, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เก็บภาษี, เศรษฐกิจไทย