นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงไทม์ไลน์ของ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และการเลือกตั้งส.ส. ที่ผ่านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะส่งคำวินิจฉัยไปให้สภาฯ จากนั้นสภาฯจะส่งมาให้รัฐบาล เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 25 วัน
โดย 5 วันแรกเผื่อไว้หากมีผู้ร้องคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง ส่วนอีก 20 วัน นั้นเป็นกำหนดเวลาในการให้รัฐบาลจัดพิมพ์ให้เรียบร้อย แต่โดยทั่วไปใช้เวลาไม่ถึง 20 วัน
เมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้วจะนับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในพระราชอำนาจ 90 วันสุดแต่จะทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้นลงมาเมื่อใดก็ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลใช้บังคับในวันรุ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การนำร่างกฎหมายลูกขึ้นทูลเกล้าฯ คาดว่าจะเป็นช่วงเดือน ธ.ค.65 หากนับไปอีก 90 วันก็จะอยู่ประมาณเดือน มี.ค.66 ใกล้กับวันที่สภาฯจะครบวาระ ซึ่งไทม์ไลน์ยังอยู่ห้วงเดิมที่เคยระบุไว้ไม่มีอะไรผิดพลาด
ทั้งนี้ เมื่อมีการนำกฎหมายลูกขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ถือว่าเป็นการปิดประตูการยุบสภาฯได้เลยใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เป็นคนละเรื่อง ซึ่งในอดีตแม้จะมีการยุบสภาฯ แต่ยังกฎหมายค้างอยู่ระหว่างทูลเกล้าฯเป็นจำนวนมาก ซึ่งกฎหมายเหล่านั้นไม่ถือว่าตกไป ยังคงลงพระปรมาภิไธยได้
“ใครที่ไปนับกันว่าการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหากมีการยุบสภาฯต้องเป็นภายใน 30 วันนั้น หรือสภาฯครบวาระ ต้องเป็นสมาชิกภายใน 90 วันนั้นก็ถูก แต่การนับ 90 วันจะนับจนถึงวันเลือกตั้ง ไม่ได้นับจนถึงวันที่สภาฯหมดวาระ ดังนั้นที่มีการออกมาพูดกันเยอะว่าหลังวันที่ 24 ธ.ค. แล้วจะอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เป็นเพราะไปนับ 90 วันถึงวันที่ 23 มี.ค.66 ที่เป็นวันครบวาระของสภาฯ แต่ในความเป็นจริงไม่เกี่ยวกัน” นายวิษณุ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ ไม่ขอแสดงความเห็นว่า ระยะเวลาใดที่เหมาะสมสำหรับการย้ายพรรค แต่ถ้ายุบสภาฯก็ยังมีกำหนดเวลาเลือกตั้ง 45 วัน ซึ่งก็ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งก่อน 45 วันได้ เช่น หากมีการยุบสภาฯขึ้นมากระทันหัน พรุ่งนี้ก็ยังย้ายพรรคกันได้ เพราะมีกรอบเวลา 45 วัน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในการจัดการเลือกตั้งอยู่แล้ว
ส่วนกรณีร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จะนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองหรือไม่ เพราะในขณะนี้สภาฯเกิดความวุ่นวายเรื่ององค์ประชุมล่มบ่อยครั้ง นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบ เป็นเรื่องทางการเมือง วิปแต่ละพรรคก็ต้องทำงานประสานกัน ส่วนร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ก็ต้องไปถามทางพรรคภูมิใจไทย
อย่างไรก็ตาม นายวิษณุ ยอมรับว่า ในอดีตเคยมีกรณีที่ส.ส.ใช้วิธีการลาออก เพื่อกดดันให้ยุบสภา แต่ไม่ถึงกับลาออกทั้งหมด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ธ.ค. 65)
Tags: กฎหมายเลือกตั้ง, ยุบสภา, วิษณุ เครืองาม