สำนักข่าวซีเอ็นบีซีนำเสนอบทวิเคราะห์ โดยระบุว่า สหรัฐดำเนินมาตรการและใช้วาทกรรมที่รุนแรงขึ้นต่อจีน พร้อมเรียกร้องให้สหภาพยุโรป (EU) ทำตาม แต่ทาง EU ไม่พร้อมร่วมด้วย
ฝ่ายบริหารของสหรัฐได้พุ่งเป้าไปที่จีนเป็นพิเศษ โดยทำให้เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นสำคัญในการหารือระหว่างประเทศหลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งไม่นาน
ทั้งนี้ ความเห็นและการดำเนินมาตรการกับจีนมีความรุนแรงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เช่น นางจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐระบุเมื่อวันพุธ (30 พ.ย.) ว่า จีนได้กลายเป็นภัยคุกคามต่อบริษัทต่าง ๆ ของสหรัฐ
ความคิดเห็นดังกล่าวได้ถูกส่งต่อและเป็นที่รับทราบในยุโรป โดยรายงานบ่งชี้ว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐได้บอกคู่ค้าฝั่งยุโรปให้พิจารณาใช้มาตรการควบคุมการส่งออกกับจีน โดยเมื่อช่วงเดือนต.ค.ที่ผ่านมา สหรัฐได้ออกมาตรการจำกัดจีนอย่างเข้มงวดในการเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตชิปของสหรัฐ
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ EU จะขนานนามจีนว่าเป็น “คู่แข่งทางยุทธศาสตร์” อยู่บ่อยครั้ง แต่ EU ก็กำลังดำเนินการในแนวทางที่แตกต่างจากสหรัฐ
นางแอนนา โรเซนเบิร์ก หัวหน้าฝ่ายภูมิรัฐศาสตร์ของบริษัทอมุนดิ แอสเซท แมเนจเมนท์ (Amundi Asset Management) กล่าวกับซีเอ็นบีซีว่า “EU กำลังพยายามหากลยุทธ์รับมือจีนในแบบของตัวเองที่แตกต่างจากสหรัฐ โดยกลยุทธ์ดังกล่าวมุ่งเป้าที่การลดความเสี่ยงในความสัมพันธ์กับจีน มากกว่าที่จะตัดความสัมพันธ์ไปเลย”
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติยุโรปแสดงให้เห็นว่า จีนเป็นผู้ซื้อสินค้ารายใหญ่จากยุโรปเป็นอันดับ 3 และเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดสำหรับสินค้านำเข้าจาก EU ในปี 2564 โดยจีนยิ่งมีความสำคัญในฐานะตลาดของยุโรปมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้กำลังประสบปัญหาจากวิกฤตรัสเซียบุกยูเครน
นางโรเซนเบิร์กกล่าวว่า “ขณะที่สหรัฐกำลังพยายามดึง EU ให้ออกห่างจากจีนมากขึ้น แต่ EU เองกลับแสวงหาแนวทางที่จะรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนต่อไป และยิ่งต้องการรักษาความสัมพันธ์มากขึ้นไปอีกหลังยุโรปได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงคราม ซึ่งจะยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิมในปีหน้า”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ธ.ค. 65)
Tags: จีน, สหภาพยุโรป, สหรัฐ, แอนนา โรเซนเบิร์ก