สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยแพร่บทความ”การระดมทุนในตลาดทุน vs แชร์ลูกโซ่”ว่า การระดมทุน (fundraising) เป็นคำที่ใช้เรียกกิจกรรมการหาเงินสนับสนุนจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวงจำกัด เช่น ญาติ เพื่อน หรือวงกว้าง เช่น ประชาชน เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสาธารณะ การกุศล หรือการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของบุคคลหรือบริษัท
อย่างไรก็ดี มีการระดมทุนเพียงบางกรณีเท่านั้นที่อยู่ใน “ตลาดทุน” และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
การระดมทุน ภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ
ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่ใช้ในกำกับดูแลการระดมทุนในตลาดทุนผ่านการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ กำหนดให้บริษัทที่จะระดมทุนผ่านการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนหรือบุคคลใด ๆ ต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.
การระดมทุน ภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ จะมีคำว่า “หลักทรัพย์” เป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะหากไม่มีหลักทรัพย์เป็นส่วนประกอบ การระดมทุนนั้นจะไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.
นิยามคำว่า “หลักทรัพย์” ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ มีลักษณะเป็นบัญชีรายชื่อตราสารที่เป็นหลักทรัพย์ (positive list) ดังนั้น ตราสารที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว หรือไม่ถูกประกาศกำหนดเพิ่มเติมให้เป็นหลักทรัพย์ตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงไม่ใช่ “หลักทรัพย์” และไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามกฎหมายนั้น
ตราสารที่ถือเป็น “หลักทรัพย์” ในปัจจุบัน ประกอบด้วย ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้น หุ้นกู้ หน่วยลงทุน ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน นอกจากนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ประกาศกำหนดตราสารที่เป็นหลักทรัพย์เพิ่มเติม ได้แก่ ใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงใบทรัสต์ ตราสารแสดงสิทธิของผู้ฝากทรัพย์สิน และตราสารหรือหลักฐานแสดงสิทธิในโครงการจัดการลงทุนต่างประเทศ
ดังนั้น กิจกรรมระดมทุนบางประเภทจึงไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เช่น การระดมทุนผ่านการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรา การระดมทุนผ่านการกู้ยืมเงินในรูปของสัญญาเงินกู้ซึ่งมิได้มีการแบ่งเป็นหน่วยแต่ละหน่วยมีมูลค่าเท่ากันและกำหนดประโยชน์ตอบแทนไว้เป็นการล่วงหน้าในอัตราเท่ากันทุกหน่วย (ทำให้ไม่อยู่ในนิยามของหุ้นกู้) หรือการระดมทุนผ่านการขายสินค้าหรือให้บริการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์
นอกจากข้อพิจารณาเกี่ยวกับ “หลักทรัพย์” แล้ว ผู้ระดมทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ยังต้องเป็น “บริษัท” ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ด้วย
บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ “บริษัท” หมายความว่า บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด และให้หมายความรวมถึง องค์การมหาชน องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ หน่วยงานหรือองค์การของรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น และผู้ออกหลักทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบอื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
การระดมทุนภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ
พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) มีวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลการระดมทุนโดยการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นโทเคนดิจิทัลเท่านั้น และไม่รวมถึงคริปโทเคอเรนซี โดย “โทเคนดิจิทัล” จะหมายถึง หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ เรียกว่า “investment token” หรือ (2) กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง เรียกว่า “utility token” และเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ
ในปัจจุบัน โทเคนดิจิทัลที่ต้องขออนุญาตการเสนอขายจากสำนักงาน ก.ล.ต. ประกอบด้วย investment token และ utility token ที่ยังไม่สามารถแลกสิทธิได้ทันทีในวันที่มีการเสนอขาย (utility token ไม่พร้อมใช้)*
ดังนั้น การพิจารณาว่ามีกิจกรรมการระดมทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ หรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่ามีการเสนอขาย “โทเคนดิจิทัล” ตามที่กฎหมายกำหนดว่าต้องขอรับอนุญาตหรือไม่
แชร์ลูกโซ่
แชร์ลูกโซ่ เป็นการหลอกลวงระดมเงิน โดยมีการสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ ในระยะเวลาอันสั้น โดยมักอ้างว่ามีการนำเงินไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีรายได้สูงเพียงพอที่จะปันรายได้แจกจ่ายสมาชิก ได้อย่างทั่วถึง มีการให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ร่วมลงทุนในระยะแรก ๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและกระตุ้นให้เกิดการชักจูงให้เข้าร่วมลงทุน แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่ได้มีการประกอบธุรกิจใด ๆ ที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนตามที่กล่าวอ้างกับผู้ร่วมลงทุน แต่จะใช้วิธีการนำเงินลงทุนของสมาชิกใหม่หมุนเวียนมาจ่ายให้สมาชิกเก่า และเมื่อไม่สามารถหาสมาชิกใหม่มาลงทุนเพิ่มได้ ก็จะไม่มีเงินมาจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สัญญาไว้และในที่สุดก็ต้องปิดกิจการหนีไป
จากลักษณะของแชร์ลูกโซ่ ซึ่งไม่มีการประกอบธุรกิจหรือลงทุนใด ๆ แต่ใช้วิธีการหมุนเงินลงทุนของสมาชิกมาจ่ายเงินต่อ ๆ กันไป จึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับการระดมทุนหรือการให้บริการในภาคตลาดทุน แม้ว่า อาจมีการหลอกลวงประชาชนโดยอ้างถึงการร่วมลงทุนเก็งกำไรในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการเก็งกำไรจากการขึ้นลงของราคาหลักทรัพย์ เช่น หุ้น หุ้นกู้ และหน่วยลงทุน หรือราคาสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น โทเคนดิจิทัล หรือคริปโทเคอเรนซี
“แชร์ลูกโซ่” จึงไม่อยู่ภายในขอบเขตการกำกับดูแล ป้องกัน หรือปราบปรามการหลอกลวงของ ก.ล.ต. แต่จำเป็นต้องใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวง เช่น พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และประมวลกฎหมายอาญาในฐานความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน เป็นต้น
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูล แจ้งเรื่องร้องเรียน หรือชี้เบาะแส มาที่ “ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต.” ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1207 หรือ เฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th หรือตรวจสอบรายชื่อผลิตภัณฑ์ บุคคล หรือบริษัทว่า ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ ด้วยตัวเองได้ที่แอปพลิเคชัน “SEC Check First”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ธ.ค. 65)
Tags: lifestyle, ตลาดทุน, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, แชร์ลูกโซ่