บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาว สกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของบมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ที่ ‘BBB-’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ GPSC ที่ ‘A+(tha)’
อันดับเครดิตของ GPSC สะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของประเทศ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของกำลังผลิตทั้งหมดของประเทศไทย และกระจายตัวของสินทรัพย์ของบริษัทในต่างประเทศ โดยสินทรัพย์ดังกล่าวทำให้ บริษัทมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ จากสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาวกับคู่ค้าที่มีสถานะทางธุรกิจและการเงินที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่ากำไรของบริษัทในปี 2565 จะอ่อนแอลงจาก ความผันผวนของค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง และความล่าช้าในการปรับราคาขายไฟฟ้าในธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก แต่คาดว่าจะเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น และกำไรของบริษัทน่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2566 และอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทจะอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันของบริษัท
อันดับเครดิตของ GPSC ได้รวมการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นสองอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ที่ ‘bb’/‘a-(tha)’ ซึ่งสะท้อนถึงแรงจูงใจของบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิต ‘BBB+’/ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ในการให้การสนับสนุน ต่อ GPSC ในระดับปานกลาง ฟิทช์คาดว่า GPSC จะมีบทบาทสำคัญในแผนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของกลุ่ม ปตท.
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
คุณภาพรายได้ที่ดี: GPSC มีรายได้ที่มั่นคง จากการที่สินทรัพย์ส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล โดยร้อยละ 43 ของรายได้ของบริษัทในปี 2564 มาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ในลักษณะ take-or-pay กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศที่ ‘BBB+’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และอีกประมาณร้อยละ 31 มาจากกลุ่ม ปตท. ซึ่งช่วยสนับสนุนให้มีความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าที่สม่ำเสมอ ถึงแม้ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า อีกทั้งบริษัทยังมีสินทรัพย์ที่กระจายตัว ที่ทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการและให้บริการได้ ในกรณีที่มีเหตุขัดข้องของโรงไฟฟ้า ส่วนสินทรัพย์ในต่างประเทศของบริษัทส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นบริษัทร่วมก็ได้รับประโยชน์จากสัญญาซื้อขายระยะยาวเช่นเดียวกัน
ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้น กดดันอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ในปี 2565: ฟิทช์คาดว่า บริษัทจะมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปี 2565 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 1 หมื่นล้านบาท จากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูง เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวขึ้นมากกว่า 450 บาทต่อล้านบีทียู (mmbtu) ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 จากราคาเฉลี่ยในช่วงปี 2564 ที่ประมาณ 260 บาทต่อล้านบีทียู ทั้งนี้ EBITDA ยังได้รับผลกระทบจากการปรับราคาขายไฟฟ้าที่ล่าช้า ในธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ซึ่งค่าไฟฟ้าได้มีการทะยอยปรับขึ้นจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในช่วงปี 2565 แต่ไม่สามารถครอบคลุมต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นมากได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีแผนจะปรับราคาขายไฟฟ้าในช่วงต้นปี 2566 ตามที่ได้เปิดรับฟังความเห็นในการปรับราคาขายไฟฟ้าเมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะปรับราคาค่าไฟฟ้าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5-6 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง จากปัจจุบันที่ 4.7 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของสัดส่วนกำไรของบริษัทในปี 2566
ฟิทช์ประมาณการว่า EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.7-1.9 หมื่นล้านต่อปี ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จากการปรับตัวลดลงของต้นทุนเชื้อเพลิง ตามสมมุติฐานราคาก๊าซธรรมชาติของฟิทช์และราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ปรับตัวลดลงจากสัญญาแบ่งปันผลผลิตก๊าซธรรมชาติในบางแหล่งผลิต
ความเสี่ยงด้านราคา: กำไรจากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมของ GPSC รวมถึงบริษัทลูกในกลุ่ม ปตท.นั้นอาจได้รับผลกระทบจากการปรับราคาขายไฟฟ้าอยู่บ้าง แม้ว่าสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าจะใช้ราคาเชื้อเพลิงเข้ามาร่วมประกอบการพิจารณา แต่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะกำกับและรักษาค่าไฟฟ้าในประเทศให้มีเสถียรภาพ ซึ่งจะเห็นจากในอดีต บางช่วงเวลา ราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น มิได้รับการส่งผ่านอย่างเต็มที่ในการปรับค่าไฟฟ้า อย่างไรก็ตามผู้ผลิตไฟฟ้าจะได้รับการชดเชย ในช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงปรับตัวลดลง
สัดส่วนหนี้สินที่ดีขึ้น: อัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่ลดลง จะทำให้สัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA net leverage) เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 10 เท่าในปี 2565 จาก 5.1 เท่าในปี 2564 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้สินดังกล่าวจะปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 6.2 เท่าในปี 2566 จากการฟื้นตัวของผลประกอบการของบริษัท ถึงแม้ว่าความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบอันดับเครดิตจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ จนถึงปี 2568 จากแผนการลงทุนของบริษัทยังอยู่ในระดับสูง
ค่าใช้จ่ายและแผนการลงทุนที่สูง: ฟิทช์คาดว่า ค่าใช้จ่ายในการลงทุนยังคงอยู่ในระดับที่สูง จากการค่าใช้จ่ายในด้านการเชื่อมโครงข่ายโรงไฟฟ้าของ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) (GLOW) และค่าใช้จ่ายในก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้า SPP ของ GLOW ที่จะหมดอายุลง และการลงทุนในโครงการ Energy Recovery Unit ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP; อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ฟิทช์ประมาณการว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ระดับ 2 หมื่นล้านบาท ในช่วงสี่ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดเพิ่มเติมจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าแห่งใหม่จะช่วยรักษาสัดส่วนหนี้สินของบริษัทให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับที่อาจมีผลกระทบในแง่ลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท
การกระจายตัวของสินทรัพย์ที่ดี: ฟิทช์คาดว่า บริษัทได้รับประโยชน์จากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และสัดส่วนประเภทของเชื้อเพลิงที่มีความหลากหลายขึ้น โดยบริษัทวางแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม มาอยู่ที่ระดับ 7.2 GW ภายในปี 2568 จากระดับ 6.3 GW ในปี 2565 และ 4.7 GW ในปี 2564 ทั้งนี้สัดส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติจะปรับตัวลดลงเป็นร้อยละ 53 จากร้อยละ 72 ในปี 2564 ขณะที่สัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังานหมุนเวียนของบริษัทเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับร้อยละ 34 (ปี 2564: ร้อยละ 11) จากการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศอินเดีย และโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศไต้หวันที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม สถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้นจะถูกลดทอนจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจาก การที่ผู้รับซื้อไฟฟ้าของโครงการในประเทศอินเดีย มีสถานะทางการเงินอ่อนแอกว่าผู้รับซื้อไฟฟ้าในประเทศไทย และคุณภาพของกระแสเงินสดที่มีลักษณะด้อยสิทธิ จากการเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยในโครงการดังกล่าว
ความสัมพันธ์กับปตท.ที่ระดับปานกลาง: ฟิทช์มองว่า GPSC เป็นบริษัทหลักในธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่มปตท. ซึ่งสนับสนุนแผนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของกลุ่มฯ ในการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยแผนธุรกิจของบริษัทสอดคล้องกับแผนของกลุ่ม ปตท. ที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 12 GW ภายในปี 2573 ซึ่งเป็นปัจจัยเหล่านี้ทำให้ฟิทช์พิจารณาว่า แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนแก่ GPSC ในด้านกลยุทธ์ (Strategic incentive) อยู่ที่ระดับปานกลาง ทั้งนี้การพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก(Parent and Subsidiary Linkage) ยังสะท้อนถึง ความสามารถในควบคุมของปตท.ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่และมีกลุ่มผู้บริหารร่วมกัน รวมถึงประวัติการสนับสนุนด้านการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยปตท.ได้สนับสนุนเงินกู้ยืมให้กับ GPSC ในการเข้าลงทุนในสินทรัพย์ในประเทศอินเดียและไต้หวัน
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
GPSC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า PetroVietnam Power Corporation – Joint Stock Company (PV Power; อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ ‘BB’ แนวโน้มเครดิตเป็นบวก) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่อันดับที่สองในประเทศเวียดนาม และมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ร้อยละ 11 ของกำลังผลิตในเชิงพาณิชย์ทั้งหมด อันดับเครดิตของ PV Power อยู่ในระดับเดียวกับ Vietnam Electricity (EVN; อันดับเครดิตที่ ‘BB’ แนวโน้มเครดิตเป็นบวก) ที่เป็นผู้รับซื้อกระแสไฟฟ้าหลักของ PV Power ซึ่งทำให้สถานะเครดิตโดยลำพังของ PV Power ที่ ‘bb’ ถูกจำกัดด้วยอันดับเครดิตของ EVN ทั้งนี้ PV Power มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า GPSC โดยมี EBITDA net leverage ต่ำกว่า 4.5 เท่า อย่างไรก็ตาม GPSC มีความสม่ำเสมอของรายได้และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ดีกว่าจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับคู่ค้าที่มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ดังนั้น บริษัททั้งสองจึงมีสถานะเครดิตโดยลำพังที่เท่ากัน
สถานะเครดิตโดยลำพังของ NTPC Limited (อันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ ‘BBB-’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในประเทศอินเดีย และมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศ ที่ ‘bbb-’ อยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตสากลระยะยาวของบริษัทฯ สถานะเครดิตโดยลำพังของ NTPC อยู่ในระดับสูงกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของ GPSC สองอันดับ สะท้อนถึง กำไรจากการดำเนินงานที่สม่ำเสมอจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ซึ่งมีการส่งผ่านการเปลี่ยนแปลงต้นทุนอย่างเต็มที่ของ NTPC ถึงแม้ว่าบริษัททั้งสองมีฐานะการเงินที่ใกล้เคียงกัน
บริษัทมีรายได้และกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ใกล้เคียงกับ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘BBB+(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานในสนามบินหลักของประเทศไทย และ บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด หรือ NNEG (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศไทย
โดย GPSCและ NNEG ต่างมีรายได้ที่สม่ำเสมอ จากการแข่งขันทางธุรกิจที่ต่ำ และได้รับประโยชน์จากสัญญาซื้อขายระยะยาว ทั้งนี้ GPSC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า BAFS เนื่องจาก GPSC มีการกระจายตัวของทรัพย์สินที่มากกว่า และมีรายได้และกำไรที่สูงกว่า นอกจากนี้ BAFS ยังได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมการบินที่ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส ทำให้รายได้อ่อนแอ่ลง และมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูง ดังนั้น อันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC อยู่ในระดับที่สูงกว่าอันดับเครดิตของ BAFS อยู่หนึ่งอันดับ
ฟิทช์คาดว่า GPSC จะมีอัตราส่วนหนี้สินในระดับที่สูงกว่า NNEG ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยมี EBITDA net leverage สูงกว่า 5.2 เท่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จากค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่สูง ดั้งนั้นอันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC อยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตของ NNEG ถึงแม้ GPSC มีสถานะทางธุรกิจที่ดีกว่า เนื่องจากมีการกระจายตัวของทรัพย์สินที่สูงกว่า และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สูงกว่า NNEG อย่างมีนัยสำคัญ
สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:
– รายได้รวมอยู่ที่ระดับ 6.8-11.8 หมื่นล้านบาทในปี 2565-2568 (ปี 2564 อยู่ที่ 7.2 หมื่นล้านบาท)
– EBITDA Margin อยู่ที่ระดับร้อยละ 9 ในปี 2565 และฟื้นตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 16-27 ในช่วงปี 2566-2568(ปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 24)
– ค่าใช้จ่ายในการลงทุนประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไต้หวัน โรงไฟฟ้าประเภท SPP และ โครงการ Energy Recovery Unit
– จ่ายเงินปันผลร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิ
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
– ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท กับ ปตท. ที่เพิ่มสูงขึ้น
– การเพิ่มอันดับเครดิตโดยลำพังของบริษัท ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสองถึงสามปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง หลังจากมีการเข้าซื้อกิจการที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามฟิทช์อาจพิจารณาปรับเพิ่มอันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC หากอัตราส่วน EBITDA net leverage ลดลงต่ำกว่า 5.2 เท่าอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยลบ:
– อัตราส่วนหนี้สินที่ลดลงช้ากว่าที่ฟิทช์คาด เนื่องจากเงินลงทุนที่สูงกว่าที่คาด หรือกระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่ำกว่าที่คาด ซึ่งส่งผลให้ EBITDA net leverage ของบริษัทอยู่ในระดับสูงกว่า 6.2 เท่า อย่างต่อเนื่อง
– สถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอลงจากการลงทุนในโครงการที่มีความเสี่ยงด้านการดำเนินงานสูง
– ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท กับ ปตท. ที่ลดลง
– อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิอาจถูกปรับลดจากอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท หากอัตราส่วน prior-ranking debt to EBITDA เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง (ณ สิ้นปี 2564 เท่ากับ 1.5 เท่า)
สภาพคล่องอยู่ในระดับบริหารจัดการได้: สภาพคล่องของบริษัทได้รับการสนับสนุนจากเงินสดหรือเทียบเท่า จำนวน 1.61 หมื่นล้านบาท ณ เดือนกันยายน ปี 2565 บริษัทมีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระภายในอีก 12 เดือนข้างหน้า จากเดือน กันยายน 2565 จำนวน 1.38 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ระยะยาว ทั้งนี้บริษัทยังได้รับเงินกู้ยืมระยะยาวและออกหุ้นกู้เพิ่มเติม จำนวนรวม 2.71 หมื่นล้านในเดือนกันยายน 2565 เพื่อเสริมสภาพคล่องของบริษัท
GSPC เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำใช้เพื่ออุตสาหกรรม ให้แก่ลูกค้าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. และขายไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย GPSC มีโรงไฟฟ้าในประเทศไทย อินเดีย ไต้หวัน และลาว โดย ณ เดือน กันยายน 2565 GPSC มีกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำได้ รวมโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจำนวน 6,357 MW และ 2,948 ตันต่อชั่วโมง ตามลำดับ
สรุปรายการปรับปรุงงบการเงินที่สำคัญ
ฟิทช์ได้ปรับงบการเงินรวมของ GPSC โดยใช้วิธี Proportionate Consolidation ในส่วนของ รายได้, กระแสเงินสด, เงินสด และหนี้ของ IRPC-CP ตามสัดส่วนการถือหุ้น IRPC-CP ของจำนวน 51% โดย GPSC ฟิทช์มองว่า GPSC ไม่สามารถเข้าถึงกระแสเงินสดของ IRPC-CP อย่างเต็มที่ และมีความรับผิดชอบที่จากัดสาหรับหนี้ของ IRPC-CP ตามสัดส่วนการถือหุ้นและเงื่อนไขตามสัญญาเงินกู้ของ IRPC-CP
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ธ.ค. 65)
Tags: GPSC, ฟิทช์ เรทติ้งส์, หุ้นไทย, โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่