คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน จะยังเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจในระยะต่อไป และจะช่วยลดทอนผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แม้จะมีการปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 65 และ 66 ลดลงจากเดิมเล็กน้อย
โดย กนง.ประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 65 จะขยายตัวได้ 3.2% จากเดิมที่ 3.3% และปี 66 ขยายตัว 3.7% จากเดิม 3.8% ขณะที่ปี 67 จะขยายตัวได้ 3.9%
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 65 คาดว่าอยู่ที่ 6.3% เท่ากับประมาณการในครั้งก่อน ส่วนปี 66 อยู่ที่ 3% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากประมาณการครั้งก่อน และในปี 67 เงินเฟ้อจะลดลงอย่างต่อเนื่องไปที่ 2.1%
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าประมาณการครั้งก่อน เป็นผลจากราคาพลังงานในประเทศ โดยเฉพาะผลจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในเรื่องราคาพลังงานที่จะสิ้นสุดลง แต่แนวโน้มเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบหมายที่ 1-3% ได้ในไตรมาส 3/66 ซึ่งช้าลงจากเดิมที่เคยคาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาส 2/66
“แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะทยอยลดลง เว้นแต่จะมีปัจจัยด้านอุปทานที่คาดไม่ถึงเข้ามา” นายปิติ ระบุ
ด้านระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนโดยรวมปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งจะทำให้อ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น
“คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง” นายปิติ ระบุ
สำหรับภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนทยอยปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่โดยรวมยังเอื้อต่อการระดมทุน โดยปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ยังขยายตัว ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวผันผวนสูงจากทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
“คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่ต้องติดตาม จึงเห็นควร ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการเงินโลกที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า แต่หากแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการฯ พร้อมที่จะปรับขนาด และเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป” นายปิติ กล่าว
พร้อมกันนี้ ยังเชื่อว่า ในช่วงปลายปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เทียบเท่ากับช่วงก่อนมีโควิด จากแรงหนุนของการท่องเที่ยว และการบริโภคในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญ
นายปิติ กล่าวว่า กนง. ยังปรับเพิ่มคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 65 เป็น 10.5 ล้านคน จากเดิมที่ 9.5 ล้านคน เนื่องจากขณะนี้หลายประเทศได้ผ่อนคลายมาตรการเดินทางมากขึ้น และปรับเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 66 เป็น 22 ล้านคน จากเดิมคาด 21 ล้านคน เนื่องจากเชื่อว่าประเทศจีนจะมีการผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีชาวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น โดยน่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงปลายปี 66
“ตอนนี้จีนยังคุมเข้มอยู่ แต่คิดว่าปลายปี 66 น่าจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางกันมากขึ้น ซึ่งในตอนนี้ นักท่องเที่ยวจากจีนยังมีไม่มาก แต่หากจีนเปิดประเทศเร็วขึ้น นักท่องเที่ยวจีนก็จะเข้ามาเร็วขึ้น” นายปิติ กล่าว
อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า คือ 1.แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นกรณีจากประเทศเศรษฐกิจหลักอาจชะลอตัวมากกว่าคาด และแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่ยังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยในประเทศ และ 2. การส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจที่อาจเพิ่มขึ้น และการปรับราคาพลังงานในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 65)
Tags: GDP, กนง., เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย