ยุทธนา นวลจรัส บรรณาธิการบริหารคนใหม่ของโพสต์ทูเดย์ แต่ไม่ใช่มือใหม่ในวงการสื่อ ด้วยประสบการณ์อันยาวนานในฐานะบรรณาธิการข่าวของนสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และผู้จัดการรายวัน โฉมใหม่ของโพสต์ทูเดย์สื่อหัวธุรกิจที่ได้รับการยอมรับจากหลากหลายวงการภายใต้การนำของคุณยุทธและทุนใหม่จะเป็นอย่างไร บรรณาธิการบริหารคนใหม่พร้อมเล่าถึงจุดยืนและแผนการทำงานของสื่อหัวธุรกิจภายหลังการเปลี่ยนมือ
คุณยุทธเปิดเผยว่า การเข้ามาซื้อโพสต์ทูเดย์ของเครือเนชั่นนั้นเกิดจากการเห็นศักยภาพในความเป็นโพสต์ทูเดย์ เพราะว่าเป็นสื่อหัวเดิมที่สร้างความประทับใจและมีแฟนคลับ ดังนั้น การซื้อกิจการครั้งนี้จึงมีความตั้งใจที่จะทำให้ดี และเชื่อว่าต้องดีกว่าเดิม
แน่นอนว่า หลายคนอาจจะสงสัยว่า โพสต์ทูเดย์ เมื่อกลายมาเป็นสื่อในเครือเนชั่นซึ่งมีสื่อที่มีชื่อเสียงและนำเสนอเนื้อหาที่เน้นในเรื่องธุรกิจและเศรษฐกิจอยู่แล้ว 2 หัวอย่าง “กรุงเทพธุรกิจ”และ “ฐานเศรษฐกิจ” นั้น “โพสต์ทูเดย์”จะมีความแตกต่างจากสื่อทั้ง 2 หัวดังกล่าวอย่างไร คุณยุทธ เล่าว่า ลักษณะเฉพาะของโพสต์ทูเดย์ที่ดีอยู่แล้ว เช่น ความกระชับ สั้น อ่านจบในหน้าเดียว ก็ต้องรักษาไว้ แต่สิ่งที่เราต้องฟื้นกลับไปก็คือการสร้างให้เป็นแบรนด์เศรษฐกิจ-ธุรกิจ เหมือนที่โพสต์ทูเดย์เคยเป็นและเป็นได้ดี และมีแฟนคลับอยู่ แต่ที่จะเพิ่มเข้าไปในคอนเซปต์ของโพสต์ทูเดย์และต้องทำให้มีความแตกต่าง คือ ธนกิจการเมือง
“ผมจะสร้างจุดขายของโพสต์ทูเดย์ คำง่าย ๆ คือ “ธุรกิจการเมือง” ภาษาวิชาการรัฐศาสตร์เขาเรียกว่า “ธนกิจการเมือง” ตัวอย่างคนที่เป็นธนกิจการเมืองที่ผมชอบพูดบ่อย ๆ คือ คุณเศรษฐา ทวีสิน” คุณยุทธนา กล่าว
จุดขายที่เกี่ยวกับธนกิจการเมืองของโพสต์ทูเดย์ จริง ๆ แล้วคืออะไร คุณยุทธนา อธิบายให้ฟังว่า คือการให้ความสำคัญและเน้นไปที่ตัวบุคคลระดับบนของประเทศนี้ ระดับบนนั้นหมายถึงผู้บริหารระดับสูง เป็นคนที่มีครอบครัวชาติตระกูลที่เป็นที่รู้จัก มีฐานะดี คนกลุ่มนี้ที่ผมหมายถึงก็มักจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจและการเมือง เพียงแต่ที่ผ่านมาเราจะเห็นสื่อแยกกันเขียนข่าวธุรกิจก็เขียนแต่เรื่องแผนของบริษัทแสนสิริ ข่าวการเมืองก็มักจะเขียนแต่ของพรรคเพื่อไทย ทั้ง ๆ ที่คุณเศรษฐามีความเกี่ยวข้องกับทั้งบริษัทแสนสิริและพรรคเพื่อไทย
“สิ่งที่เพิ่มเข้าไปคือผมอยากขายไอเดียของคน ผมมองว่าข่าวที่ดีเกิดจากคนในข่าว เพราะฉะนั้นโพสต์ทูเดย์ต้องให้ความสำคัญกับความคิดของคนในข่าว การเขียนถึงข่าวเศรษฐา ทวีสิน อย่าเขียนถึงแค่แผนของแสนสิริ ต้องเขียนถึงแนวคิดในฐานะแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย อยู่ในชิ้นเดียวกัน เพราะเราสัมภาษณ์คุณเศรษฐา เราเขียนถึงคุณเศรษฐา ขายไอเดียเขา ขายแผนธุรกิจเขา แผนทางการเมืองเขา โดยใช้ข้อมูลที่มีเปิดเผยอยู่มาร้อยเรียงในภาษาที่น่าอ่าน ที่ทำให้คนเห็นภาพ ที่ทำให้ตัวเขาเจิดจรัส คือตัวเขาก็แฮปปี้ด้วย” คุณยุทธนา กล่าว
ส่วนที่สองที่คุณยุทธนาเน้นก็คือ “ไลฟ์สไตล์” โดยดูว่า บุคคลในข่าวที่ถูกนำเสนอในด้านธุรกิจและการเมืองไปแล้วว่า จะสามารถนำเสนอแง่มุมในด้านชีวิตครอบครัวหรือไลฟ์สไตล์ได้อย่างไรบ้าง เช่นมีญาติพี่น้องกี่คน ครอบครัวเป็นอย่างไร มีการส่งต่อให้ทายาทดูแลกิจการหรือไม่ ชีวิตไลฟ์สไตล์ทำอะไรบ้าง ต่อจากนั้น ก็ต้องนำเสนอเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์นี้ต่อให้จบในข่าวเดียว
คุณยุทธนา กล่าวต่อไปว่า อย่างล่าสุดคุณสารัชถ์ รัตนาวะดี ผมมองไปไกลกว่านั้น กำลังหาทางนำเสนอทายาท เราต้องการสัมภาษณ์ลูกชายคุณสารัชถ์ อะไรแบบนี้ที่ผมอยากรู้ว่า “สาริศ รัตนาวะดี” จะมารับธุรกิจจากพ่อได้วันไหน หรือว่าค่อย ๆ รับ หรือว่ารับไปเลย นี่คือสิ่งที่ผมจะนำเสนอ แต่ไม่ใช่ไม่สนใจกระแสข่าวโซเชียลเลย
“ยกตัวอย่างข่าวคุณสารัชถ์ก่อนจะสัมภาษณ์ลูกชาย ผมก็เตรียมไว้ วันนี้ (ช่วงที่กำลังสัมภาษณ์) ก็ต้องปรับแผน ทันทีที่ข่าวคุณสารัชถ์รับพระราชทานปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ที่จุฬาฯ แล้วปรากฏว่าคนอ่านข่าวนี้เยอะมาก ไม่เกิน 2-3 วัน ผมก็ต้องรีบลงข่าวสารัชถ์ครองอาณาจักรพลังงานหลักแสนล้าน ออกมาจากสต็อค ถามว่า เข้ากับจังหวะมั้ย? เข้า มีที่มามั้ย? มี เพราะในเว็บผมในวันนั้น ข่าวอันดับ 1 คือสารัชถ์รับปริญญา ในเมื่อเราก็เห็นแล้วว่าความต้องการสูง แทนที่จะรอคิวอีก 2-3 สัปดาห์ เราเอาออกก่อนเลย นี่ไง ก็แปลว่าเราไม่ใช่ไม่แคร์ เราก็ต้องแคร์คนอ่าน แคร์สื่ออื่น นี่ไงเรากำลังแข่งกับเขา แข่งกับสื่ออื่น” คุณยุทธนากล่าว
ส่วนที่องค์ประกอบที่สามสำหรับโพสต์ทูเดย์โฉมใหม่ คือ ข่าวต่างประเทศ บรรณาธิการบริหารคนใหม่ของโพสต์ทูเดย์กล่าวว่า “วันนี้โลกกับประเทศไทยแทบจะเป็นประเทศเดียวกัน ผมให้ความสำคัญกับข่าวต่างประเทศ แน่นอนผมยังคงคอนเซปต์คนของโลก ดาราของโลก แล้วค่อยไปที่เรื่องของประเทศ สงคราม การค้า ล้อไปกับคอนเซปต์ที่เราบอก”
“ต่างประเทศก็ต้องหยิบวอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือว่าคริปโทฯ ตอนนี้ใครเป็นเจ้า ใครถือไว้เยอะ เน้นว่า “ใคร” มากกว่าจะไปเน้นเรื่องบริษัท อย่างที่ผมบอก อย่างสงครามยูเครนเราก็เน้นว่าเบื้องหลังของสงคราม จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องของสี จิ้นผิง กับเรื่องโจ ไบเดน แล้วก็ปูตินรึเปล่า หรือเป็นเรื่องอะไรที่มีมิติมากกว่านั้น แต่ว่าสืบค้นจากคน ค้นจากผู้นำ ค้นจากมาสเตอร์มายด์ (Mastermind) ค้นจากตัวละครหลัก แล้วค่อยสืบเอา” คุณยุทธนา กล่าว
นอกจากนี้ โพสต์ทูเดย์โฉมใหม่ยังเน้นเรื่องกรีนคอนเทนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นซีโร่คาร์บอน (Zero-Carbon) คุณยุทธนา กล่าวว่า เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือเศรษฐกิจ-ธุรกิจ มันไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเทรนด์ทางการค้าโลก
“Current News เราจะพยายามหลีกเลี่ยง ที่สำคัญเรามาทำใหม่ ไม่จำเป็นต้องแข่งความเร็ว ไม่ต้องแข่งกับกระแสอะไร ภายใต้ทีมงานกองบรรณาธิการประมาณ 20-25 คน โดยมี 1 ใน 3 นี้เป็นพนักงานตัดต่อ โปรดักชั่น กราฟิกของแพลตฟอร์มที่เราจะทำ ตอนนี้ยังมีไม่ครบ” คุณยุทธนา กล่าว
สำหรับงานสเต็ปถัดไปของโพสต์ทูเดย์นั้น คุณยุทธนากล่าวว่า เราจะมีเฟส 2 เราจะทำรายการออนไลน์ แต่การเตรียมพร้อมก็อย่างที่บอก 1 ใน 3 ก็เป็นแผนกที่เกี่ยวกับกรีนคอนเทนต์ อาจจะต้องมีพิธีกรด้วย แต่ว่าก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น ผมต้องฟื้นโพสต์ทูเดย์กลับมา แล้วก็สร้างอัตลักษณ์ก่อน
แล้วจะใช้เวลาฟื้นโพสต์ทูเดย์กลับมานานแค่ไหนนั้น คุณยุทธนา กล่าวว่า ช่วงแรกคงไม่นาน ต่อด้วยสร้างอัตลักษณ์ นั่นคือเฟสแรก แล้วค่อยไปยังแพลตฟอร์มที่จำเป็นต้องทำ จำเป็นต้องเล่นในอนาคต การเตรียมความพร้อมตอนนี้ 1 ใน 3 ของทีมงาน 20-25 คน เป็นฝ่ายโปรดักชั่น ดิจิทัลแพลตฟอร์ม เรื่องดิจิทัลแพลตฟอร์มนั้นปฏิเสธไม่ได้ และวันนี้เรายังไม่เห็นคู่แข่ง อาจมีบางส่วนของสื่อ 2 สำนักมารวมกัน แต่โดยสรุปเราไม่ได้แข่งกับสื่อไหน ยังไม่มีคู่เทียบ
กลุ่มเป้าหมายของโพสต์ทูเดย์โฉมใหม่
คุณยุทธนา กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายคือคนที่อยากรู้เรื่องของบุคคลที่มีฐานะชั้นกลางไปจนถึงระดับบน ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะคนกลุ่มนี้ที่อยากรู้ แต่ชาวบ้านก็อยากรู้ อยู่กับความอยากรู้อยากเห็นเขาด้วย ไม่ใช่เอาแต่ข่าวฮาร์ดนิวส์ (Hard news) หรือข่าวที่คิดว่ามีประโยชน์แต่คนไม่สนใจ เราก็ไม่เอา เราต้องผสม ต้องเอาทั้ง 2 อย่าง มีประโยชน์ด้วย แต่คนก็ต้องสนใจด้วย ทั้งเงินทั้งกล่องเราต้องเอาหมด เราไม่เลือกเฉพาะกล่องหรือเงิน
“หัวใจของโพสต์ทูเดย์คือความเป็นสำนักข่าว ไม่ใช่ทำคอนเทนต์สายลมแสงแดด หลาย ๆ ที่ สื่อใหม่ ๆ หรือหลายคนที่อยากเข้ามาในวงการ มันไม่ยั่งยืนหรอกครับ ความยั่งยืนอยู่ที่เป็นสำนักข่าว”
คุณยุทธนา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 พ.ย. 65)
Tags: SCOOP, ฐานเศรษฐกิจ, นสพ.กรุงเทพธุรกิจ, ผู้จัดการรายวัน, ยุทธนา นวลจรัส, โพสต์ทูเดย์