ครม. เคาะแผนต้านทุจริต ปี 66-70 ตั้งเป้าดัชนีรับรู้ทุจริตต้องติด 1 ใน 53 ของโลก

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เสนอ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และภาคเอกชน ในการแปลงแนวทางการพัฒนาของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 21 ประเด็น และการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561 – 2580) ไปสู่การปฏิบัติ

สำหรับแผนปฏิบัติ มีเป้าหมาย 2 ระดับ คือ

1. เป้าหมายภาพรวม คือ กำหนด “ประเทศไทยปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ” โดยรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริต หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส อัตราการเกิดคดีทุจริตมีแนวโน้มลดลง ประชาชนมีทัศนคติที่ไม่ยอมรับการทุจริต และมีผลการประเมินคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index: CPI) ที่สูงขึ้น โดยมีตัวชี้วัดภาพรวมที่กำหนดไว้ ดังนี้

– ปี 66 CPI ของประเทศไทย อยู่ในอันดับ 1 ใน 53 และหรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 51 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยมีหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ไม่น้อยกว่า 84%

– ปี 67 CPI ติดอันดับ 1 ใน 51 และหรือคะแนนไม่ต่ำกว่า 53 คะแนน

– ปี 68 CPI ติดอันดับ 1 ใน 48 และหรือคะแนนไม่ต่ำกว่า 55 คะแนน

– ปี 69 CPI ติดอับดันดับ 1 ใน 45 และหรือคะแนนไม่ต่ำกว่า 56 คะแนน

– ปี 70 CPI ติดอับดับ 1 ใน 43 และหรือคะแนนไม่ต่ำกว่า 57 คะแนน

ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนเป้าหมายภาพรวม อาทิ การผลักดันเพื่อยกระดับคะแนน CPI และนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในทุกขั้นตอนของการอนุญาต

2. เป้าหมายย่อย ประกอบด้วย 3 เป้าหมาย มี 9 ตัวชี้วัด ดังนี้

2.1 แผนย่อยการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ มี 2 เป้าหมาย ได้แก่

1) ประชาชนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต และ 2) คดีทุจริตและประพฤติมิชอบลดลง มี 7 ตัวชี้วัด อาทิ ร้อยละของเด็กและเยาวชนไทยมีพฤติกรรมที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต, ร้อยละของหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ITA และจำนวนคดีทุจริตในภาพรวมลดลง

2.2 แผนย่อยการปราบปรามการทุจริต มีเป้าหมาย คือ การดำเนินคดีทุจริตมีความรวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ มี 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1)กระบวนการดำเนินคดีทุจริตที่จำเป็นต้องขอขยายระยะเวลาเกินกว่ากรอบเวลาปกติที่กฎหมายกาหนด ไม่เกิน 20% และ 2)จำนวนคดีอาญาที่หน่วยงานไต่สวนคดีทุจริตถูกฟ้องกลับ ไม่เกิน 3% ของจำนวนคดีที่ส่งฟ้อง

ส่วนการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อย เช่น 1) ปลูกฝังวิธีคิด ปลุกจิตสานึก ให้มีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต 2) ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ และ 3) ปราบปรามการทุจริต

น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการฉบับนี้ มีจำนวน 605 โครงการ วงเงิน 3,748.70 ล้านบาท แบ่งตามเป้าหมาย ดังนี้

– เป้าหมายที่ 1 ประชาชนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต จำนวน 331 โครงการ วงเงิน 2,752.01 ล้านบาท

– เป้าหมายที่ 2 คดีทุจริตและประพฤติมิชอบลดลง จำนวน 162 โครงการ วงเงิน 684.84 ล้านบาท

– เป้าหมายที่ 3 การดำเนินคดีทุจริตมีความรวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ จำนวน 112 โครงการ วงเงิน 311.85 ล้านบาท

ทั้งนี้ ใช้งบประมาณภายใต้แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ งบกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และงบดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top