ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) แสดงความเป็นห่วงกรณีมีผู้เสนอให้รัฐบาลขยายเวลาปิดสถานบันเทิงจากเดิม 02.00 น.ไปเป็นเวลา 04.00 น. เพราะจากการประเมินสถานการณ์อุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับจากขยายเวลาปิดผับ ปัจจุบันเกิดอุบัติเหตุทางถนนภาพรวม 1,000-1,200 คน/วัน และจะพบแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ 15-20%
อุบัติเหตุทางถนนจากดื่มแล้วขับ 150-200 คน/วัน โดย 3 ใน 4 เกิดในเวลากลางคืน เฉลี่ย 112 คน/วัน และหากเปิดผับถึงตี 4 โดยไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น อุบัติเหตุอาจเพิ่มขึ้นถึง 27% หรือประมาณการผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นระหว่าง 170-220 คน/วัน แต่ถ้ามีขยายเวลาเป็นตี 4 ควบคู่กับการกวดขันเข้มงวดบังคับใช้กฎหมาย เช่น ด่านตรวจดื่มแล้วขับเข้มตลอดคืน โดยเฉพาะหลังเที่ยงคืน-เช้าก็คาดว่าจะช่วยสกัดคนเมาขับได้เพิ่ม 30-50% และช่วยลดผลกระทบได้ 10 ราย/วัน
โดยจากสถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับ ปี 60-62 จากศูนย์ข้อมูลกลางด้านการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงกลางคืน (เวลา 18.00-6.00 น.) มากกว่าช่วงกลางวัน (เวลา 6.00-17.00 น.) ถึง 75% ขณะที่ข้อมูลการเปรียบเทียบมาตรการการบังคับใช้กฎหมาย และการเสียชีวิตจากพฤติกรรมเสี่ยงในช่วงเทศกาล 7 วันอันตราย จากฐานข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนปี 2565 พบว่า การบังคับใช้กฎหมายที่ลดลง 3.14% จะเพิ่มอัตราการเสียชีวิตขึ้นถึง 2.51% และที่สำคัญการขยายเวลาปิดผับตี 4 ผู้บังคับใช้กฎหมายก็ต้องขยายเวลาหรือเพิ่มจำนวนการตั้งด่านตรวจดื่ม-เมาขับออกไปจากเดิมที่กำหนดกรอบอัตรากำลังไว้เพียง 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 1 หรือ 1-2 ชั่วโมง/วัน
“นโยบายขยายเวลาเปิดผับต้องประเมินผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะผลกระทบจากคนเมาขับที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิต”
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 65)
Tags: lifestyle, ผับบาร์, ศวปถ., สถานบันเทิง, อุบัติเหตุ, แอลกอฮอล์