Decrypto: Crypto Exchange ล่มสลาย !! ทำไมต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ??

การล่มสลายของ FTX ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าการซื้อขายเป็นอันดับสองของโลก ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นที่มีต่อตลาด Cryptocurrency ในภาพรวมอย่างรุนแรง ส่งผลให้ตลาด Cryptocurrency ทั่วโลกสั่นคลอนไปตาม ๆ กัน เกิดปรากฏการณ์ที่แพลตฟอร์มต่าง ๆ ประสบปัญหาด้านการขาดสภาพคล่องและเม็ดเงินลงทุน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทให้บริการสินเชื่อคริปโทฯ ชื่อดังอย่าง Celsius Network และ Voyager Digital รวมไปถึงล่าสุดกรณีของ BlockFi ซึ่งต่างก็ได้ยื่นขอล้มละลายภายใต้ Chapter 11 ต่อศาลล้มละลายประเทศสหรัฐอเมริกา จนนำมาสู่คำถามที่ว่าทำไมต้องมีการยื่นล้มละลาย ? กระบวนการล้มละลายจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อใคร ? อย่างไร ?

กรณีของ FTX ที่ได้ยื่นล้มละลายภายใต้ Chapter 11 ต่อศาลล้มละลายแห่งรัฐเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา โดยมีบริษัทในเครือประมาณ 130 แห่ง รวมถึง Alameda Research บริษัทซื้อขายคริปโทฯ ของ Bankman-Fried เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการล้มละลายครั้งนี้ด้วยนั้น

ตามแถลงการณ์ของ FTX โพสต์บน Twitter ชี้แจงว่า Bankman-Fried ได้ลาออกจากตำแหน่ง CEO และได้แต่งตั้งให้นาย John J. Ray III (ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการล้มละลาย) เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน เพื่อดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้กระบวนการล้มละลายนี้ โดย Bankman-Fried จะยังคงให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการต่าง ๆ โดยในคำร้องขอล้มละลายได้ระบุว่า FTX มีเจ้าหนี้มากกว่า 100,000 ราย โดยมีทรัพย์สินประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ และมีหนี้สินประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในการประกาศล้มละลายที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา

การเข้าสู่กระบวนการล้มละลายภายใต้ Chapter 11 เป็นรูปแบบหนึ่งของการล้มละลายที่จะมีการปรับโครงสร้างธุรกิจ หนี้สิน และทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือที่เรียกว่าการล้มละลายแบบมี “การปรับโครงสร้างองค์กร” การล้มละลายภายใต้ Chapter 11 มุ่งช่วยให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และช่วยให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้กลับมาเริ่มต้นใหม่ดำเนินกิจการได้ใหม่ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขดังกล่าวขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตามภาระผูกพันของลูกหนี้ภายใต้แผนการปรับโครงสร้างหนี้

โดยเมื่อ FTX ในฐานะลูกหนี้ได้ยื่นล้มละลายภายใต้ Chapter 11 และศาลมีคำสั่งให้ล้มละลาย ก็ได้มีการแต่งตั้ง Trustee ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ผู้รับผิดชอบดูแลการบริหารระบบการล้มละลายของรัฐบาลกลาง และจะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการอย่างเป็นทางการสำหรับเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน เพื่อทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์เจ้าหนี้ไม่มีประกันทั้งหมด รวมถึงลูกค้า FTX (ซึ่งก็คือเจ้าหนี้ในคดีนี้)

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่การบริหารจัดการของ FTX ขาดความโปร่งใส จึงเป็นเรื่องยากที่จะประเมินความสามารถในการชำระหนี้และผลกระทบที่มีต่อบรรดาเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน (รวมไปถึงลูกค้าของ FTX) ว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนหรือไม่ แต่ปัจจุบันก็ได้เริ่มมีการดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของ FTX เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงเรียกเงินและทรัพย์สินของ FTX คืน และได้เร่งดำเนินการชำระบัญชีให้รวดเร็วเพื่อให้ลูกค้า FTX และเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันได้รับชำระหนี้ให้ได้มากที่สุด

เมื่อพิจารณากฎหมายล้มละลายไทย การยื่นล้มละลายภายใต้ Chapter 11 จะมีความคล้ายคลึงกับ “การฟื้นฟูกิจการ” ที่จะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ มีการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างทั่วถึง รวมไปถึงเพื่อเปิดโอกาสให้มีการปรับโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน และแผนการดำเนินธุรกิจ เพื่อความอยู่รอดขององค์กร ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกหนี้สามารถตั้งตัวและหาทางชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้ โดยที่กิจการยังดำเนินต่อไปได้

เครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูกิจการ คือ “สภาวะการพักการชำระหนี้” (หรือ “Automatic Stay”) คือมาตราการทางกฎหมายที่ช่วยให้ลูกหนี้ได้รับความคุ้มครองจากการถูกบังคับให้ชำระหนี้ ถูกฟ้องร้อง ถูกบังคับคดีในทางแพ่ง และถูกงดให้บริการสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการ ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และตัวลูกหนี้เองก็ถูกห้ามมิให้ชำระหนี้หรือก่อหนี้หรือกระทำการใด ๆ ในทางที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากการดำเนินการที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจตามปกติ อันเป็นการช่วยให้ลูกหนี้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างมีสภาพคล่อง (Liquidity) ของธุรกิจ โดยไม่ต้องกังวลว่าธุรกิจหรือกิจการจะถูกเรียกให้ชำระหนี้หรือถูกฟ้องร้อง ระหว่างอยู่ในสภาวะการพักการชำระหนี้นั่นเอง

ในประเทศไทย “กระบวนการฟื้นฟูกิจการ” จะมีความแตกต่างจาก “กระบวนการล้มละลาย” อันเป็นกระบวนการที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการเข้ามาควบคุมและรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ และดำเนินการแบ่งทรัพย์สินที่รวบรวมได้ให้กับบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย โดยหากลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน จนไม่เพียงพอจะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็สามารถติดตามทรัพย์อื่นมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ส่วนที่เหลือต่อไป โดยลูกหนี้จะไม่สิทธิดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของตนได้ เว้นแต่ทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลหรือพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของ Chapter 11 และการฟื้นฟูกิจการต่างก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายด้วยการสงวนและรักษาทรัพย์สินของลูกหนี้เอาไว้เพื่อให้ลูกหนี้ยังคงสามารถใช้ในการประกอบธุรกิจต่อไปได้, การให้โอกาสระยะเวลาช่วงหนึ่งแก่ลูกหนี้ในการพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาของกิจการตลอดจนการเจรจาหาทางออกร่วมกับเจ้าหนี้โดยไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องบังคับเพื่อชำระหนี้, การรวบรวมทรัพย์สินไปจัดสรรชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแทนที่จะปล่อยให้เจ้าหนี้ไปฟ้องร้องบังคับคดีกันเอาเอง ซึ่งอาจจะมีผลกระทบถึงการประกอบธุรกิจของลูกหนี้และก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างเจ้าหนี้ นับเป็นมาตราการทางกฎหมายที่มุ่งบรรเทาภาวะวิกฤตทางการเงินเพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสแก้ปัญหา และช่วยให้กิจการที่ประสบปัญหากลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

นางสาวดุษดี ดุษฎีพาณิชย์

ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านนิติกรรมสัญญา

และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top