นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการกวดขันวินัยจราจร เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ.2566 โดยได้ดำเนินการทบทวนให้มีความสอดคล้องกับแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และทิศทางของแผนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
แนวทางความร่วมมือในการกวดขันวินัยจราจร ในปี 2566 กรุงเทพมหานคร จะมุ่งเน้นดำเนินงานด้านการจราจร 2 ส่วน ได้แก่ การลดปัญหาการจราจรติดขัด และการเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง ประกอบด้วย 1.การตรวจจับความเร็ว 2.การหยุดชะลอรถตรงทางข้าม 3.การจอดในที่ห้ามจอด/การจอดขวางทางเท้า 4.การไม่เคารพสัญญาณไฟ และเครื่องหมายจราจร 5.การขับขี่สวนทาง การขับขี่บนทางเท้า การขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด และ 6. มาตรการสวมหมวกนิรภัย
ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหาจราจร ทั้งจุดรถติด และจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ มักเกิดจากการขาดวินัยจราจรของประชาชน ทั้งการจอดรถริมถนน และบนทางเดินเท้า การไม่หยุดในบริเวณทางข้าม การข้ามถนนในบริเวณที่ไม่ใช่ทางข้าม และการไม่สวมหมวกนิรภัย โดยกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการผลักดันเรื่องการกวดขันวินัยจราจร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานต่อไป
จากการสำรวจจุดที่มีปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพมหานคร และมีการประชุมร่วมระหว่างสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และสถานีตำรวจท้องที่ทั้ง 88 แห่ง และทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการประชุม พบว่า มีจุดที่มีปัญหาจราจรติดขัด จำนวน 266 จุด โดยวิธีการแก้ไขแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ การแก้ไขด้วยหลักการทางวิศวกรรมจราจร และการกวดขันวินัยจราจร เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงเรื่องวินัยจราจร โดยกรุงเทพมหานคร จะประสานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จัดกิจกรรม D-Day กวดขันวินัยจราจรพร้อมกันทั่วกรุงเทพมหานคร
สำหรับแนวทางการใช้เทคโนโลยีแก้ไขปัญหาจราจร Traffic Management เทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการจราจร ระบบเพื่อตรวจวัดความเร็ว ระบบเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนบริเวณสัญญาณไฟจราจร ทางคนเดินข้ามชนิดปุ่มกด ระบบตรวจจับการฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรและเครื่องหมายจราจร บริเวณทางแยกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อป้องปรามให้เกิดวินัยด้านการจราจร ไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย ลดการเกิดอุบัติเหตุรวมถึงเกิดความปลอดภัยกับประชาชน พร้อมเชื่อมโยงสัญญาณการวิเคราะห์ข้อมูลไปยังกองบังคับการตำรวจจราจร ในการสนับสนุนข้อมูลผู้ฝ่าฝืน ซึ่งสามารถนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายต่อไป เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน เพิ่มความปลอดภัย ตรวจสอบการเกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ต่างๆ บนท้องถนน และสนับสนุนหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ
การบริหารจัดการจราจรด้วยระบบ ITMS (Intelligent Traffic Management System) ซึ่งถนนในกรุงเทพมหานคร เป็นโครงข่ายที่เชื่อมโยงกันหมด การบริหารจัดการจราจรจึงต้องทำร่วมกันทั้งระบบ เพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้ 1.การควบคุมสัญญาณไฟจราจรทั้งกรุงเทพมหานคร ให้สอดคล้องกับสภาพจราจรที่เกิดขึ้นจริง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการจราจร และระบบบริหารรถขนส่งสาธารณะ 2.การเผยแพร่สภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ เพื่อเพิ่มข้อมูลในการตัดสินใจให้กับประชาชน 3.การกวดขันวินัยจราจรด้วยระบบกล้อง CCTV อาทิ การจับภาพยานพาหนะที่ทำผิดกฎจราจร เพื่อนำไปออกใบสั่งอัตโนมัติ หรือเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจับ/ปรับผู้กระทำผิดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้พิจารณาเกี่ยวกับการจัดการจราจร และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในช่วงงานกาชาด ประจำปี 2565 ณ บริเวณสวนลุมพินี ระหว่างวันที่ 8-18 ธันวาคม 2565 การกำหนดจุดจอดรถประชาชนที่มาเที่ยวงานในสวนลุมพินีและอาคารใกล้เคียง จุดบริการเรียกรถแท็กซี่ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจและเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ อำนวยความสะดวกด้านการจราจร ถนนพระราม 4 ถนนราชดำริ ถนนวิทยุ เพื่อให้รถเคลื่อนตัวได้ตลอดเวลา ไม่ให้มีรถติดสะสม กวดขันไม่ให้จอดรถในที่ห้ามจอด ตลอดจนดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนในช่วงงานดังกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ย. 65)
Tags: กทม., กองบัญชาการตำรวจนครบาล, จราจร, จิรสันต์ แก้วแสงเอก, วิศณุ ทรัพย์สมพล