SCBEIC ชี้ศก.โลกเริ่มพ่นพิษ ส่งออกต.ค.ร่วงในรอบ 2 ปี แนวโน้มปีหน้ายังไม่สดใส

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า แนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยในระยะถัดไป อาจดูไม่ค่อยสดใสนัก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอลงมาก โดย EIC ได้ปรับลดประมาณการส่งออกไทยในปี 66 เหลือ 1.2% จากเดิมที่เคยคาดไว้ 2.5% เนื่องจากประเมินว่า เศรษฐกิจบางประเทศหลักมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร จะเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ปลายปีนี้ ตามด้วยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปี 66

ทั้งนี้ สัญญาณอุปสงค์โลกชะลอตัวลงมากขึ้น สะท้อนจาก

1. ข้อมูลดัชนี Manufacturing PMI ของประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงข้อมูล Exports order ที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50

2. ข้อมูลการส่งออก 20 วันแรกของเกาหลีใต้ในเดือนพฤศจิกายนหดตัว -16.7% ซึ่งหดตัวสูงสุดในรอบ 30 เดือน โดยในเดือนนี้การส่งออกของเกาหลีใต้ หดตัวรุนแรงในตลาดจีน (-28.3%) และฮ่องกง (-35.6%) ขณะที่การนำเข้าของเกาหลีใต้หดตัว -5.5% นับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี

3. การส่งออกของจีนในเดือนต.ค. หดตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปีอยู่ที่ -0.3% นอกจากนี้ การนำเข้าของจีนหดตัว -0.7% นับเป็นการหดตัวครั้งแรกเช่นกันนับตั้งแต่เดือนส.ค.63 รวมทั้งจีนยังนำเข้าสินค้าไทยลดลง -14.5% นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

“ข้อมูลการส่งออก-นำเข้า ของจีน และเกาหลีใต้ที่ลดลง สะท้อนให้เห็นอุปสงค์ของตลาดโลกที่ลดลงชัดเจน (แม้ในตลาดจีนมีส่วนหนึ่งที่เป็นผลกระทบจากการปิดเมืองเพื่อควบคุมโควิด-19) และมีแนวโน้มสะท้อนให้เห็นอุปสงค์ของสินค้าจากไทย ที่อาจลดลงเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ EIC จึงปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปี 2566 มาอยู่ที่ 1.2% จากเดิม ณ เดือนก.ย.ที่ 2.5%”

บทวิเคราะห์ระบุ

โดยวันนี้ กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ต.ค. 65 อยู่ที่ 21,772 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลง -4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 20 เดือน และเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดในรอบ 2 ปี หากเทียบกับเดือนก่อนหน้า ภาพรวมการส่งออกรายกลุ่มสินค้าในเดือนต.ค. ลดลงเกือบทุกกลุ่ม โดยกลุ่มสินค้าเกษตร ลดลง -4.3% กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ลดลง -2.3% และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ลดลง -3.5%

ส่วนการส่งออกไปยังตลาดหลักลดลงเกือบทุกตลาด สะท้อนอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว เช่น ตลาดจีน ลดลง -8.5% โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จากนโยบาย Zero Covid ที่ยังบังคับใช้อยู่, ตลาดสหรัฐ ลดลง -0.9%, ตลาดยุโรป ลดลง -7.9% สอดคล้องกับสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงมาก และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอขงกลุ่มประเทศหลักทั้ง 2 ที่เพิ่มขึ้น, ตลาดอาเซียน 5 ลดลง 13.1% ในขณะที่ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) ยังขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 10.6%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ย. 65)

Tags: , ,
Back to Top