นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในปัจจุบัน โดยระบุดังนี้
- ไวรัสไม่ธรรมดา การที่มีการติดหนาแน่นใหม่ แสดงว่าไวรัสไม่ใช่ตัวเดิมที่เคยมีในปีนี้ ทั้งโอมิครอน BA.1/2 และแม้แต่ BA.4/5 แต่เป็นสายพันธุ์ย่อยใหม่ และมาเป็นกลุ่มไม่ใช่มาทีละตัว
- ลักษณะอาการไม่ได้มีแต่ไข้ น้ำมูก เจ็บคอ ไอ แต่ออกมาในลักษณะเฉียบพลัน มีไข้ หนาวยะเยือก มือเท้าเย็น ความดันตกโดยที่ไม่มีน้ำมูกหรือมีแต่เจ็บคอเล็กน้อย หรือออกมาในรูปของอาการซึม ทางระบบสมอง หรือระบบหัวใจ
- ตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ขึ้นช้า หรือขึ้นขีดจางๆ โดยอาการเริ่มไปก่อนแล้วเป็นวัน
- ลักษณะสายย่อยใหม่นี้ในสหรัฐฯ ประกาศเตือนว่า แอนติบอดีที่ใช้ในการรักษาจะใช้ไม่ได้ รวมทั้งแอนติบอดีที่ออกฤทธิ์ยาว ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) หรือ Evusheld ขณะเดียวกัน ยังมีแนวโน้มที่จะดื้อกับยาต้านไวรัส เช่น โมลนูพิราเวียร์ ด้วย
- วัคซีนที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นสามเข็มหรือกระตุ้นเข็มที่สี่ ถึงแม้ว่าจะมีประสิทธิภาพแต่จะถูกจำกัดลงมาก และระยะเวลาที่คุ้มครองจะสั้นลง ทั้งนี้ รวมไปถึงวัคซีนใหม่ที่มีโอมิครอน BA.4/5 รวมอยู่ด้วยและใช้ในสหรัฐฯ แล้ว
- การติดเชื้อธรรมชาติที่ติดไปแล้ว กลับพบว่ามีบทบาทในการลดความรุนแรงได้ดีกว่าวัคซีน แม้ว่าจะไม่ได้ป้องกันการติดใหม่ก็ตาม ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าให้พยายามไปติดเชื้อ
- เรื่องความรุนแรงของโรคต้องจับตาดูแบบวันต่อวัน ไม่ได้ให้น้ำหนักกับการติดที่มากขึ้น แต่เป็นเรื่องความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ที่ทำให้ต้องเข้าโรงพยาบาลหรือถึงแก่ชีวิต
- เมื่อมีอาการป่วย ต้องนำไปสู่การรักษาโดยเร็วที่สุดตั้งแต่เริ่มมีอาการเริ่มต้น โดยไม่ต้องสนใจว่าสองขีดหรือไม่ ด้วยยาฟ้าทะลายโจร ทั้งนี้ เน้นย้ำว่า ยาแต่ละยี่ห้อจะใช้ปริมาณไม่เท่ากัน ให้ดูตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม ถ้ารักษาช้าจะไม่ได้ผล ถ้าภายใน 1-2 วัน อาการยังต่อเนื่องหยุดไข้และอาการไม่ได้ โดยต้องกินยาลดไข้อยู่ตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง หมายความว่าต้องพบแพทย์และวางแผนการรักษาต่อว่าเป็นโควิด-19 หรือไวรัสตัวอื่นๆ ที่มีลักษณะอาการคล้ายกันอีกมาก ทั้งนี้ ฟ้าทลายโจร ยังออกฤทธิ์ครอบคลุมกับไวรัสมากมายหลายชนิด กินให้เร็ว กินให้ถูกขนาด
“ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องงดกิจกรรม กิจการ จนไปถึงล็อกดาวน์แบบ ในช่วงปี 63 แต่ต้องอยู่กับโควิดให้ได้ และปรับตัวตามสถานการณ์” นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ย. 65)
Tags: COVID-19, lifestyle, ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, โควิด-19, โควิดสายพันธุ์ย่อย