จุรินทร์ เผยรัฐพร้อมจับมือเอกชนฝ่า 4 ความท้าทาย เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Enhancing Trade Facilitation for Thailand Competitiveness : เปิดการค้าไทย มิติใหม่สู่สากล” ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 40 จ.อุบลราชธานี ค่ำวานนี้ (26 พ.ย.65) โดยระบุในตอนหนึ่งว่า ต้องยอมรับความจริงว่าโลกและประเทศไทยยังเผชิญปัญหาและสิ่งท้าทาย อย่างน้อย 4 เรื่อง คือ 1. ปัญหาโควิด 2.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ 3.ปัญหาการกีดกันทางการค้า และ 4.ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

โดยเรื่องแรก การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ พบว่าปัญหาการระบาดของโควิด-19 จะยังต้องอยู่กับเราต่อไป ยากที่จะสรุปได้ชัดเจนว่าสถานการณ์จะจบลงได้เมื่อไร

เรื่องที่ 2 ความร้อนแรงของภูมิรัฐศาสตร์ เชื่อว่าจากนี้จะร้อนแรงขึ้น คือการนำการเมืองกับเศรษฐกิจมารวมกัน แบ่งขั้วแบ่งค่าย บังคับให้ประเทศต่างๆ ต้องเลือกข้าง ทำให้เกิดมวยยักษ์สองคู่ คือ 1. รัสเซีย-ยุโรป เป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เกิดวิกฤติอาหาร-พลังงาน 2. สหรัฐฯ-จีน ในทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทาน วัตถุดิบในการผลิตสินค้าหลายตัวทั้งโลก ทั้งห่วงโซ่อาหาร เซมิคอนดักเตอร์ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งประเทศไทยคงต้องแสดงจุดยืนให้มีความชัดเจนว่าจะใช้ภูมิรัฐศาสตร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเราอย่างไร

เรื่องที่ 3 การกีดกันทางการค้าจะมีรูปแบบใหม่เข้ามามากขึ้น ในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษีและไม่ใช่ประเด็นเดิม ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมรับมือ โดยในการประชุมเอเปค ต่างเห็นพ้องว่าควรใช้เวทีพหุภาคีเป็นเวทีขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อไม่ให้ประเทศเล็กเสียเปรียบประเทศใหญ่ และเอเปคยอมรับการขับเคลื่อน BCG Model

ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือการที่ที่ประชุมขับเคลื่อนให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจแบบยั่งยืน เพราะเป็นเหรียญสองด้าน มีหลายเรื่องที่เป็นประเด็นผูกกับการค้าเศรษฐกิจและการลงทุน ซึ่งด้านบวกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของโลกในอนาคต แต่อีกด้านอาจเป็นการนำเรื่องนี้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในอนาคตได้

เรื่องสุดท้าย การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกปี 64 โดยเศรษฐกิจโลก ขยายตัวได้ 6% แต่ปีนี้แนวโน้มจะเหลือแค่ 3.2% และปี 66 จะเหลือแค่ 2.7% โดยประมาณ สะท้อนให้เห็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกลดลง อาจกระทบตัวเลขทั้งการลงทุน การค้า การส่งออกและการท่องเที่ยว ดังนั้นต้องเร่งจับมือกันระหว่างภาครัฐกับเอกชนเพื่อการแก้ไขปัญหานี้ต่อไปในอนาคต

“มีหลัก 2 ข้อคือ 1.อะไรที่เกินกำลังเราต้องเว้นไว้ก่อน เช่น สั่งให้ 2 ประเทศหยุดทำสงครามไม่ได้ ต้องเผชิญหน้ากับมัน แต่อะไรที่เป็นปัจจัยที่เราควบคุมได้ ต้องเร่งทำ โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออก ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับกระทรวงพาณิชย์ทุกหน่วยงาน เร่งหารือกับภาคเอกชน เพราะมั่นใจว่าการทำงานร่วมกันของทั้งสองฝ่ายอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้เราฝ่าปัญหาและความท้าทายทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นนี้ไปได้ ซึ่งได้มีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งภาคเอกชนที่จะช่วยกันหาคำตอบท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทำตัวเลขการส่งออกให้เติบโตต่อไปได้ได้อย่างไร มีอะไรบ้างที่ทำได้ในเวลาที่รวดเร็ว มาช่วยกันทำ ตลาดไหนมีศักยภาพที่เราสามารถบุกได้ ผมพร้อมร่วมมือกับพวกเราทุกคน เปิดโอกาสให้เอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน มีโอกาสร่วมเปิดตลาดทำตัวเลขการส่งออกให้ประสบความสำเร็จต่อไปเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างเงินให้กับประเทศของเราให้ประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคต”

รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ย. 65)

Tags: ,
Back to Top