ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (28 พ.ย.-2 ธ.ค.) ที่ระดับ 35.25-36.25 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาดวันศุกร์ที่ 25 พ.ย.ที่ระดับ 35.82 บาท/ดอลลาร์
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่ผันผวน โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ (แม้ว่าจีดีพีไตรมาส 3/65 ของไทยจะออกมาดีกว่าที่คาด) ตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลกและการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย นำโดย เงินหยวน ซึ่งเผชิญแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและมาตรการสกัดการระบาดของโควิดในจีน นอกจากนี้ แรงขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติก็เป็นปัจจัยลบของค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน โดยสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 21-25 พ.ย. 2565 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 5,388 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตร 11,666 ล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิพันธบัตร 8,775 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 2,891 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกแข็งค่าผ่านแนว 36.00 บาท/ดอลลาร์ ได้อีกครั้ง เนื่องจากบันทึกการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 1-2 พ.ย. ตอกย้ำโอกาสที่เฟดจะชะลอขนาดการขึ้นดอกเบี้ยนในเดือนธ.ค. นี้
ช่วงปลายสัปดาห์เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยตามค่าเงินหยวน หลังจากที่ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจ
ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์หน้า ได้แก่ ถ้อยแถลงของประธานเฟด ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รายงานเศรษฐกิจการเงินและข้อมูลการส่งออกของไทยเดือนต.ค.
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิต ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนพ.ย. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนต.ค. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/65 (prelim.) และรายงาน Beige Book ของเฟด
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิต/บริการเดือนพ.ย. ของจีน ทิศทางสกุลเงินเอเชียและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายด้วยเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ย. 65)
Tags: KBANK, ค่าเงินบาท, ธนาคารกสิกรไทย, อัตราแลกเปลี่ยน, เงินบาท