พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีมอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และการเลือกสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ร่วมงาน โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เกษตรกรคือรากแก้วของแผ่นดิน และประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม รัฐบาลมีความห่วงใยและคาดหวังให้มีรายได้ที่เพียงพอ ซึ่งจากการได้ลงพื้นที่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ และได้พบปะเกษตรกร ทำให้รับทราบปัญหาความเดือดร้อน เช่น ปัญหาหนี้สิน ปัญหาแหล่งน้ำ และปัจจัยการผลิต รวมทั้งภัยธรรมชาติ และวิกฤติโรคระบาดที่ส่งผลต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งรัฐบาลได้พยายามให้ความช่วยเหลือเยียวยา ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เช่น การมอบเงินช่วยเหลือ การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย การจ้างแรงงานเกษตรกร การปรับโครงสร้างการผลิตการแปรรูปและการตลาด ซึ่งเป็นห่วงโซ่ที่สำคัญเพื่อสร้างโอกาสสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้เพื่อทำให้สินค้าเกษตรได้รับการยอมรับในเวทีโลก
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ และมีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ต่างประเทศมีความสนใจในคุณภาพอาหารของไทย และเป็นความต้องการของตลาดโลก ดังนั้นจึงต้องทำให้สินค้าเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้น ลดต้นทุนการผลิต โดยการใช้เครื่องมือเครื่องจักรและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้าสนับสนุน ปรับกระบวนการผลิตโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ
รวมทั้งการทำเกษตรอัจฉริยะ การทำเกษตร BCG ที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร โดยในอนาคตจะมีมาตรการเพื่อการควบคุมสินค้าและผลิตผลทางการเกษตรที่มีมาตรฐานรับรอง เพื่อการบริหารจัดการภาคการเกษตรอย่างครบวงจร นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยสนับสนุนทั้งในกระบวนการผลิต การแปรรูป และการจัดจำหน่าย จะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการของตลาด
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการได้พบปะกับสภาเกษตรกรในหลาย ๆ ครั้งได้มีการหารือเพื่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถเดินหน้าไปด้วยกันได้อย่างเข้มแข็ง โดยมีการกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาและผลักดันข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของสภาเกษตรกร รวมไปถึงการให้ผู้แทนเกษตรกรเข้าร่วมในคณะกรรมการต่าง ๆ ของรัฐบาลเพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความมั่นคง
พร้อมทั้งการสร้างเกษตรสมัยใหม่โดยใช้เทคโนโลยี งานวิจัยและนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อสร้าง smart farming ให้เกิดผลผลิตที่มากขึ้น มีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด และมีความปลอดภัย โดยได้จัดให้มีองค์ความรู้ เงินทุน การวางระบบบริหารจัดการน้ำ การวางโครงสร้างระบบขนส่ง และระบบอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ต่าง ๆ ไว้เพื่อรองรับ
นายกรัฐมนตรี ยังได้มีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด และได้ตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรประเภทผู้แทนเกษตรกรขึ้น เพื่อช่วยสนับสนุนและเตรียมความพร้อมให้การดำเนินการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส ไม่มีการทุจริต เป็นธรรมและเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม
พร้อมระบุว่า การเลือกสมาชิกสภาเกษตรกร เพื่อเป็นผู้แทนของเกษตรกรกว่า 20 ล้านคน ถือว่ามีความสำคัญ เพราะจะเป็นบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ประสานความร่วมมือ พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผ่าน “สภาเกษตรกรแห่งชาติ” มีการทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างเป็นระบบ ในการเสนอข้อคิดเห็นและนโยบายการดำเนินงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่องค์การเกษตรกร ให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งยังเป็นกระบอกเสียงในการสะท้อนปัญหาให้ภาครัฐ และร่วมมือกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็น ซึ่งจะช่วยให้การทำงานของรัฐบาลสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ดียิ่งขึ้น
“การเตรียมการเพื่อเลือกตั้งสภาเกษตรกรฯ เป็นโอกาสดี และเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อาสาจะเข้ามาเป็นสมาชิกสภาได้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ และกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานเพื่อเกษตรกรทุกคน และหวังว่าการเลือกตั้งสภาเกษตรกร “โดยเกษตรกร ของเกษตรกร เพื่อเกษตรกร” จะทำให้ได้สมาชิกสภาที่มีความตั้งใจทุ่มเททำงาน และพร้อมเข้ามาบูรณาการการทำงานร่วมกับรัฐบาล เพื่อคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรกว่า 20 ล้านคนอย่างแท้จริง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ย. 65)
Tags: ประยุทธ์ จันทร์โอชา, เกษตรกร