นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ใช้เวทีสภาผู้แทนราษฎรตอบกระทู้สดของนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายกัญชาของรัฐบาลว่าเป็นนโยบายกัญชาเสรีจริงหรือไม่ เหตุใดต้องปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด และมีแนวทางป้องกันการใช้กัญชาในทางที่ผิดเพื่อควบคุมผลกระทบทางสังคมอย่างไร โดยระบุว่า รัฐบาลมีนโยบายกัญชาเสรี แต่เป็นเสรีแบบมีการควบคุม ไม่ใช่ไร้การควบคุม รัฐบาลมีนโยบายคืนสมุนไพรกัญชาและภูมิปัญญาชาวบ้านให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้โดยมีกฎหมายกำกับ
โดยรายละเอียดในนโยบายเร่งด่วนข้อ 4 ของรัฐบาล ระบุว่า เป็นไปเพื่อต่อยอดภูมิปัญญาและความรู้ของปราชญ์ชาวบ้านในการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป รวมทั้งเร่งศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ กัญชา กัญชง และพืชสมุนไพรในทางการแพทย์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการสร้างรายได้ของประชาชน โดยกำหนดให้มีกลไกการดำเนินงานที่รัดกุม เพื่อมิให้เกิดผลกระทบทางสังคม ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัด นั่นคือเหตุผลที่ต้องมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชากัญชงมาควบคุมการใช้กัญชา
นายอนุทิน กล่าวว่า มูลค่าการตลาดของกัญชานั้นมีนับแสนล้านบาท ซึ่งเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของคนไทย ที่ผ่านมาทั้งช่วงก่อนและหลังเลือกตั้ง พรรคการเมืองหลายพรรคก็ได้มีนโยบายเกี่ยวกับกัญชาเช่นกัน หลังจากสภารับหลักการร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง ได้เห็นชาวบ้านแสดงออกว่าดีใจที่ผู้แทนราษฎรได้ร่วมกันรักษาประโยชน์ของประชาชน จากนั้นร่าง พ.ร.บ.กัญชงกัญชาที่เดิมเสนอโดยพรรคภูมิใจไทยก็ได้กลายเป็นร่างของกรรมาธิการที่มาจากสภาผู้แทนราษฎรของประชาชน โดยผู้ทรงคุณวุฒิได้รับฟังประชาชนจากทุกสารทิศ จนได้มาเป็นร่างกฎหมายของกรรมาธิการที่จะนำเสนอต่อสภาในวาระที่สอง จึงอยากให้สภาได้คำนึงถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ที่จะมีกฎหมายมาควบคุมไม่ให้มีการใช้ในทางที่ผิด
ส่วนการปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ยกเว้นสารสกัดจากกัญชาที่มี THC เกินกว่า 0.2% ของน้ำหนักที่ยังคงเป็นยาเสพติดนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นไปโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และประกาศของรัฐมนตรี เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย มีเหตุผลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับว่า กัญชามีประโยชน์มากกว่าโทษ ความเสี่ยงจากกัญชามีในระดับที่ไม่รุนแรงและควบคุมได้ ไม่ต่างจากเหล้า บุหรี่
“นั่นคือเหตุผลที่คืนกัญชาให้เป็นพืชสมุนไพรให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งผลของการปลดกัญชาจากยาเสพติดนั้น ทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงกัญชา และใช้ประโยชน์ได้ตามกฎหมายที่ออกมากำกับ” นายอนุทิน กล่าว
พร้อมระบุว่า การถอดกัญชาจากยาเสพติด ได้ลบอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดในการศึกษาวิจัย พัฒนา เทคโนโลยีการใช้กัญชากัญชงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ อุตสาหกรรมการแพทย์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน หน่วยงานของรัฐ และเอกชน
คงไม่มีใครอยากยุ่งเกี่ยว หรือตั้งงบประมาณเพื่อศึกษาวิจัยพัฒนากัญชา หากยังเป็นยาเสพติด ในขณะที่การถ่ายทอดภูมิปัญญาไทย การต่อยอดองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนไทย ตำรับยา หมอพื้นบ้านของไทยที่ใช้กัญชาซึ่งมีมานานกว่า 300 ปีก็สูญหายไป ไม่มีการพัฒนา ไม่มีการสืบทอด เพราะกัญชาถูกแปะฉลากว่าเป็นยาเสพติด ทั้งนี้ มีการศึกษาว่า ตลาดกัญชาในประเทศไทยมีมูลค่าสูงกว่า 28,000 ล้านบาทในปี 2565 และภายใน 3 ปี จะมีมูลค่ามากกว่า 5 หมื่นล้านบาท
“ถ้าหากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง ตามที่มีหลายท่านให้คำแนะนำมา ก็จะทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจนี้หดตัวไป ทำให้ความมั่นใจลดน้อยถอยลง โอกาสในการสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวก็จะลดน้อยถอยลงไป” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวถึงแนวทางป้องกันการใช้กัญชาในทางที่ผิด เพื่อควบคุมผลกระทบทางสังคมว่า การมี พ.ร.บ.กัญชากัญชง จะเป็นการกำกับควบคุมการใช้ประโยชน์จากกัญชาได้อย่างสมบูรณ์ตามการพิจารณาของสภา เมื่อกัญชาถูกถอดออกจากบัญชียาเสพติดแล้วนั้น ระหว่างพิจารณา พ.ร.บ.ซึ่งกินเวลานานกว่าที่คาดไว้ ก็ยังมีกฎหมายระดับรอง คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขมาบังคับใช้ ยังสามารถควบคุมการใช้ในทางที่ผิดได้ ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเมื่อเทียบกับยาเสพติดประเภทอื่น
“ในวันนี้ก็ไม่ควรเทียบแล้ว เพราะกัญชาไม่ใช่ยาเสพติด มีกฎหมายระดับรองกำกับดูแล เช่น ห้ามสูบกัญชาในที่สาธารณะ ห้ามใช้ดอกกัญชาปรุงอาหาร ห้ามจำหน่ายกัญชาให้นักเรียนนักศึกษา เด็กมีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร” นายอนุทินกล่าว
นอกจากนี้ มีประกาศที่ระบุว่าผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ต้องแจ้งต่อกรมอนามัย และแสดงสัญลักษณ์ให้ผู้บริโภคทราบ ผู้นำกัญชาไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และส่งผลการศึกษามาตรฐานความปลอดภัย ผู้ที่ฝ่าฝืนปฏิบัติขัดต่อประกาศกระทรวงสาธารณสุข จะมีโทษทั้งจำและปรับ และล่าสุดคือประกาศสมุนไพรควบคุมฉบับปรับปรุง ที่เน้นคุมเข้มช่อดอก ซึ่งเป็นส่วนที่สังคมกังวลมากที่สุด ส่วนอื่นๆของกัญชา ได้แก่ ลำต้น เส้นใย กิ่ง ก้าน ราก ใบ นั้น ไม่เป็นยาเสพติดมาตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.63 แล้ว เนื่องจากมีผลการศึกษาชี้ชัดว่าส่วนอื่นๆ ของกัญชาที่ไม่ใช่ช่อดอกมีสารที่เป็นอันตรายต่ำ และไม่จัดเป็นยาเสพติด ตามนิยามขององค์การอนามัยโลก ประชาชนใช้ประโยชน์ได้ตามการกำกับของประกาศที่เกี่ยวข้อง
นายอนุทิน มั่นใจว่าตั้งแต่ดำเนินนโยบายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจนั้น ยังไม่มีปัญหาที่ควบคุมไม่ได้ มีคนที่ขายอย่างจดทะเบียนถูกต้อง ส่วนคนที่แอบขาย หรือคนจงใจทำผิดกฎหมาย ก็ต้องบังคับใช้กฎหมายเช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ย. 65)
Tags: กัญชาเสรี, ยาเสพติด, อนุทิน ชาญวีรกูล