นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ในประเทศไทยเริ่มมีอากาศหนาว ส่งผลต่อการแพร่เชื้อโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2.75 ที่เริ่มมีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้นในประเทศไทย ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวตรวจพบครั้งแรกในประเทศอินเดียเมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และได้แพร่กระจายไปหลายประเทศ
“สายพันธุ์ BA.2.75 มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง G446S บนโปรตีนหนาม ซึ่งใช้จับกับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ และเกี่ยวข้องกับการหลบภูมิคุ้มกัน การพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วบ่งชี้ว่ามีความสามารถในการแพร่ระบาด แต่ยังไม่มีรายงานความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจากเชื้อเดิม โดยในประเทศไทยมีรายงานพบสายพันธุ์ BA.2.75 ครั้งแรกเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2565
ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายงานสัดส่วนของผู้ติดเชื้อ BA.2.75 ในประเทศเพิ่มขึ้นมากจากเดือนที่แล้ว เพิ่มจาก 23.2% เป็น 43.9% อย่างไรก็ตาม สามารถใช้ยาต้านไวรัสที่มีอยู่รักษาได้ และวัคซีนที่มีอยู่รวมถึงแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (Long-acting Antibodies; LAAB) ยังสามารถยับยั้งเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2.75 ได้” นพ.ธเรศ กล่าว
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้โรงพยาบาลต่างๆ ในสังกัดสำนักปลัดฯ และกรมการแพทย์ ขยายวันที่ให้บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเพื่อความสะดวกในการเข้าถึงวัคซีน รวมทั้งสถาบันบำราศนราดูรสังกัดกรมควบคุมโรคที่เปิดให้บริการวันจันทร์ถึงศุกร์ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป
ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของชายอายุ 38 ปี ติดโควิดนอนเสียชีวิตในคอนโด เมื่อวันที่ 23 พ.ย.65 จากข้อมูลการสอบสวนโรคเบื้องต้น โดยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร พบว่า ชายคนดังกล่าวได้รับวัคซีน 3 เข็ม ได้รับเข็มสุดท้ายในเดือน ม.ค.65 นานมากกว่า 10 เดือน ขณะนี้รอผลการชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตจากสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งจะทราบผลเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือจากประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 คือผู้สูงอายุหรือกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรังที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน มีการป่วยตายจากโควิดมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมดที่รายงานในแต่ละวัน และกลุ่มนี้หากรับวัคซีนครบแล้วเข็มล่าสุดนานเกิน 4 เดือนขึ้นไป ให้เข้ารับวัควีนเข็มกระตุ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่เพียงพอจะสามารถป้องกันการป่วยหนัก และลดโอกาสเสียชีวิตได้ โดยสามารถเข้ารับวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ย. 65)
Tags: COVID-19, กรมควบคุมโรค, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กระทรวงสาธารณสุข, ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์, วัคซีนต้านโควิด-19, วัคซีนเข็มกระตุ้น, โควิด-19, โสภณ เอี่ยมศิริถาวร