นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์คำแนะนำในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan ว่า เชื้อไวรัสโควิค-19 ติดต่อได้ง่ายขึ้น โดยช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้พัฒนาตัวเองเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ทำให้ติดต่อได้ง่ายขึ้น แพร่กระจายโรคได้ง่าย แต่ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าสายพันธุ์ได้มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนามาโดยตลอด
“สายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ง่ายก็จะเข้ามาแทนที่ ความรุนแรงของโรคลดน้อยลง เกิดจากมีภูมิต้านทาน จากวัคซีนหรือการติดเชื้อ ร่างกายของคนทั้งหมดรู้จักเชื้อไวรัสตัวนี้ และเมื่อเกิดการติดเชื้อ ทำให้อาการลดลง ยกเว้นผู้ที่มีร่างกายเปราะบาง” นพ.ยง ระบุ
การหลีกหนีให้หลุดรอดจากการติดเชื้อไวรัสตัวนี้ ต่อไปจะทำได้ยากยิ่งขึ้น หลังมีการผ่อนปรนมาตรการป้องกันเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตสู่ภาวะปกติ ดังนั้นแนวทางการปฏิบัติที่จะทำได้ในขณะนี้ ได้แก่
1. ทำร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่า ดูแลเรื่องสุขภาพอนามัย ความสะอาด กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
2. สร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด-19 ด้วยการรับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม และใครได้รับเข็มสุดท้าย หรือติดเชื้อมาแล้วเกิน 6 เดือน อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นอย่างยิ่ง หรือใครคิดว่าเสี่ยงต่อการติดโรคได้ง่าย ก็สมควรที่จะได้รับวัคซีนในการป้องกัน เช่น บุคลากรด่านหน้า
3. หลีกเลี่ยงการไปในที่แออัด คนหมู่มาก ถ้าจำเป็นต้องไปก็ต้องปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดในการป้องกันตนเอง คนปกติแข็งแรงไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ ATK เช่น จะไปโรงเรียน
4. เมื่อมีอาการต้องสงสัยโรคทางเดินหายใจ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัย เช่น ตรวจ ATK ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม และป้องกันการกระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น
5. เมื่อติดเชื้อหรือป่วย ควรดูแล รับการรักษาอย่างเหมาะสม เก็บตัวอย่างน้อย 5 วัน ป้องกันการแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น หลังจากนั้นถึงแม้จะออกสู่สังคมก็ควรป้องกันของโรคต่ออีก 5 วัน
6. อาการที่ยังคงอยู่หลังโควิด-19 (ลองโควิด) จะเกิดขึ้นในสัปดาห์แรกๆ และส่วนใหญ่จะหายไป ส่วนใหญ่จะเป็นอาการที่เกี่ยวกับความรู้สึก โดยที่ตรวจไม่พบพยาธิสภาพ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปตื่นกลัวอย่างที่มีการให้ข่าวกัน ประชากรส่วนใหญ่ขณะนี้มีการติดเชื้อไปแล้วหรือป่วยไปแล้วประมาณ 70% ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดก็ดำรงชีวิตได้อย่างปกติไม่ได้มีปัญหาอะไร
7. ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไปในภาวะปัจจุบัน ไม่ควรให้โควิด-19 มาเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ย. 65)
Tags: COVID-19, lifestyle, คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ, ยง ภู่วรวรรณ, โควิด-19