น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเอกสารผนวกท้ายตราสารเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง แก่เครือข่ายการติดตามตรวจสอบการสะสมของกรดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (EANET) และเห็นชอบกับร่างหนังสือให้ความยินยอมอย่างเป็นทางการ พร้อมอนุมัติให้อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้ลงนามในหนังสือให้ความยินยอมอย่างป็นทางการ โดยประเทศเครือข่าย EANET ต้องรายงานผลการพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อเอกสารผนวกท้ายตราสารฯ ในการประชุมระดับรัฐบาล ครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 24-25 พ.ย.65 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ เอกสารผนวกท้ายตราสารฯ ดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ เป็นการกำหนดสารที่เป็นมลพิษทางอากาศ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ฝุ่นละออง เป็นต้น และในส่วนของการดำเนินงานจะมีการติดตามและประเมินผล ความร่วมมือด้านวิชาการ เป็นต้น โดยเอกสารผนวกท้ายตราสารฯ จะมีผลบังคับใช้ ณ วันที่ทุกประเทศเครือข่ายให้ความเห็นชอบ หรือในกรณีที่ประเทศเครือข่ายให้ความเห็นชอบไม่ครบจะมีผลเฉพาะกับประเทศที่ให้ความเห็นชอบแล้ว ณ วันที่ 31 ต.ค.65
ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้งว่า ในส่วนของประเทศไทย ณ วันที่ 31 ต.ค.65 ยังไม่ได้เห็นชอบเอกสารผนวกท้ายตราสารฯ เอกสารดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้กับประเทศไทย ณ วันที่ประเทศไทยลงนามในหนังสือให้ความยินยอมอย่างเป็นทางการ แต่เอกสารดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากนัก เนื่องจากประเทศไทยได้ดำเนินการติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนอยู่แล้ว
สำหรับเครือข่ายการติดตามตรวจสอบการสะสมของกรดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก หรือ EANET จัดตั้งขึ้นในปี 2541 เพื่อรับมือกับปัญหาการตกสะสมของกรดที่เป็นปัญหามลพิษข้ามพรมแดนในภูมิภาค มีประเทศเครือข่าย 10 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยในปี 2543 ได้มีการจัดตั้งศูนย์เครือข่าย (Network Center) เป็นศูนย์ทางวิชาการในประเทศญี่ปุ่น และจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการ EANET ในประเทศไทย โดยให้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เป็นฝ่ายเลขาธิการ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานของ EANET เป็นไปอย่างเหมาะสม มีขอบเขตความร่วมมือ กิจกรรม ภารกิจของประเทศเครือข่าย และการสนับสนุนด้านการเงินแก่ EANET ที่ชัดเจน จึงมีการจัดทำตราสารเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ EANET เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงาน โดยมีการดำเนินงานหลัก เช่น การติดตามตรวจสอบ การศึกษาวิจัย การฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และการส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกสาธารณะเกี่ยวกับการตกสะสมของกรด
เนื่องจากในปัจจุบัน หลายประเทศประสบปัญหามลพิษทางอากาศหลายชนิดที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ประเทศเครือข่ายจึงเห็นควรให้มีการขยายขอบเขตการดำเนินงานของ EANET ให้ครอบคลุมปัญหามลพิษทางอากาศด้วย ดังนั้นระหว่างปี 2562-2564 จึงได้มีการประชุมร่วมกัน และได้ข้อสรุปให้ขยายขอบเขตดังกล่าวในรูปแบบของเอกสารผนวกท้ายตราสารฯ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 65)
Tags: ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, มลพิษทางอากาศ, ไตรศุลี ไตรสรณกุล