นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก (GBS) ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ยังแกว่งตัวผันผวน โดยมีแรงกดดันจากเจ้าหน้าที่เฟด สนับสนุนให้เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 4.4% ในช่วงไตรมาส 4/65 สูงกว่า 4% ที่เปิดเผยก่อนหน้านี้
รวมทั้งการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน WTI ไปทดสอบระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. เนื่องจากความกังวลเรื่องอุปสงค์น้ำมันที่เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED และการที่จีนใช้มาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจีนมีรายงานพบผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จะกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันประกอบกับราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับตัวลงแรงกดดันหุ้นกลุ่มพลังงาน
และข้อมูลตัวเลขของสหรัฐที่มีการรายงานว่าผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 4,000 ราย สู่ระดับ 222,000 รายซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 225,000 ราย บ่งชี้ถึงภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานจะยิ่งทำให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยทาง FedWatch Tool ของ CME Group ได้แสดงความเห็นว่าขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 19% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 15% จึงคาดการณ์กรอบดัชนียังคงเคลื่อนไหวที่ระดับ 1,600-1,640 จุด
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ตัวเลข GDP ที่แท้จริงของไทยปี 66 จะขยายตัว 3.7% เพิ่มขึ้นจาก 2.8% ในปี 65 สวนทางกับทั่วโลกที่ชะลอตัวลง และการประชุมเอเปค 2022 ที่ผ่านมาได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยทั้งในแง่การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ส่วนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่าเห็นสัญญาณที่ดีต่อการท่องเที่ยวไทยและคาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะกลับมาจำนวน 80% ของรายได้ในปี 62
อีกทั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดว่าทางรัฐเตรียมเสนอมาตรการช้อปดีมีคืนให้ที่ประชุมครม.พิจารณา เบื้องต้นจะให้สิทธิประชาชนนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการไม่เกิน 40,000 บาท มาหักลดหย่อนภาษี
ด้านปัจจัยที่ต้องจับตาในประเทศ อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค และดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์รายงานดุลการค้า
ส่วนสถานการณ์ต่างประเทศ อียู รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นต้นเดือนพ.ย. และสหรัฐ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนต.ค.
ดังนั้นแนะนำกลยุทธ์การลงทุนแนะนำหุ้นที่คาดว่าได้ประโยชน์จากการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยจะมีการเสนอมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5-มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว เข้าสู่ที่ประชุมครม.ที่จะประชุมในช่วงสิ้นเดือนพ.ย. นี้ โดยหุ้นที่คาดว่าได้รับประโยชน์ ได้แก่ ERW, CENTEL, VRANDA, ASAP, SPA, AAV, BA และ AOT
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก ประเมินว่า ราคาทองคำปรับตัวขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคมออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 7.7% สอดคล้องกับดัชนีเงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิต PPI ที่ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 0.2% ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่าการประชุม FOMC ครั้งสุดท้ายของปีกลางเดือนธันวาคมมีโอกาส 80% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% และมีโอกาส 20% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.75% ซึ่งสวนทางกับช่วงก่อนที่ตลาดให้น้ำหนักขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.75% มากกว่า ส่งผลให้ตลาดผ่อนคลายมากขึ้นสะท้อนผ่านผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐที่อ่อนตัวลงระดับ 3.77% สอดคล้องกับดัชนีดอลลาร์ที่ปรับตัวลงทำจุดต่ำสุดระดับ 105.34 หนุนราคาทองคำปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม SPDR มีสถานะขาย 5.22 ตัน
โดยสัปดาห์นี้จับตารายงานการประชุม FOMC โดยตลาดตอบรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ทำให้กรอบดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวขึ้นที่ระดับ 4.25-4.50% หากรายงานการประชุม FOMC ไม่มีมุมมองลบเพิ่มเติมประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญภาวะถดถอย อาจทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาต่ำกว่าคาดการณ์อาจเป็นแรงหนุนต่อราคาทองคำ
ดังนั้นฝ่ายวิจัยประเมินว่าแรงกดดันของราคาทองคำน้อยลง เนื่องจากแนวโน้มตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐส่วนใหญ่ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ โดยทองคำพักฐานมา 3 เดือน จึงมีแรงซื้อกลับทำให้มองกรอบการซื้อขาย 1,700-1,780 เหรียญ/ออนซ์ คำแนะนำซื้อขายตามกรอบที่ให้ไว้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 65)
Tags: GBS, SET, SET Index, วิลาสินี บุญมาสูงทรง, หุ้นไทย, โกลเบล็ก