นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการตรวจเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ในประเทศ และติดตามสายพันธุ์น่ากังวลที่อาจพบจากผู้เดินทางเข้าประเทศ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างวันที่ 12-18 พ.ย. 65 ผลการตรวจเฝ้าระวังแบบ SNP/Deletion ด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 246 ราย พบว่า ในภาพรวมพบสัดส่วนของ BA.2.75 เพิ่มขึ้นเป็น 42.9% จากสัปดาห์ก่อนที่มีสัดส่วน 23.6% และเมื่อแยกตามกลุ่ม พบว่า ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศจาก 23.2% เป็น 43.9% โดยเฉพาะพื้นที่เขตสุขภาพที่ 2, 6, 11 และ 12 ที่พบสัดส่วนมากกว่าครึ่งเป็นสายพันธุ์ BA.2.75
ทั้งนี้ จากการถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัว (Whole genome sequencing) ของตัวอย่างในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน พบสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลานของ BA.2.75 เช่น BA.2.75.2, BA.2.75.5.1 (BN.1), BA.2.75.1.2 (BL.2) จำนวนมากกว่า 138 ราย
นอกจากนี้ ยังพบสายพันธุ์ BQ.1 ที่ระบาดในอเมริกาและยุโรป จำนวน 9 ราย ส่วนสายพันธุ์ XBB ที่ระบาดมากในสิงคโปร์ พบจำนวน 13 ราย ทั้งนี้ ยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ แต่อาจจะทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์ BA.2.75 ตรวจพบครั้งแรกในอินเดียเมื่อต้นเดือนพ.ค. 65 และได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สายพันธุ์ BA.2.75 มีการกลายพันธุ์อย่างหนึ่งที่สำคัญ คือ G446S บนโปรตีนหนาม ซึ่งจับกับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ และเกี่ยวข้องกับการหลบภูมิคุ้มกัน การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บ่งชี้ว่าอาจมีข้อได้เปรียบในการแพร่ระบาด โดยในประเทศไทยรายงาน BA.2.75 ครั้งแรกเมื่อปลายเดือนมิ.ย. 65
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ร่วมกับเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามผลกระทบจากสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์น่ากังวล ที่อาจมีต่อการแพร่เชื้อ ความรุนแรงของโรค ประสิทธิผลของมาตรการทางสาธารณสุข และคุณสมบัติของอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของเชื้อไวรัส เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการออกแบบการรักษา การให้ยาต้านไวรัสหรือแอนติบอดีสังเคราะห์
“มาตรการทางสาธารณสุข การสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่แออัด การล้างมือ ยังรับมือกับการระบาดได้ทุกสายพันธุ์ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถช่วยลดความรุนแรงของเชื้อได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว
สำหรับสถานการณ์สายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปี 65 พบสายพันธุ์เดลตาถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ได้แก่ BA.1, BA.2, BA.4, BA.5 และสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ปัจจุบันสายพันธุ์โอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่กระจายอยู่ในประเทศไทย จากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง นำไปสู่วิวัฒนาการการกลายพันธุ์ภายในสายพันธุ์เดียวกันอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นสายพันธุ์ย่อยหลากหลายกลุ่มในตระกูล ซึ่งมีตำแหน่งกลายพันธุ์ต่างกันไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 65)
Tags: COVID-19, ศุภกิจ ศิริลักษณ์, โควิด-19, โอมิครอน