บริษัทเชลล์ ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของอังกฤษเปิดเผยว่า ทางบริษัทจะประเมินแผนการลงทุนมูลค่า 2.5 หมื่นล้านปอนด์ในอังกฤษในช่วง 10 ปีข้างหน้าใหม่อีกครั้ง หลังจากที่รัฐบาลอังกฤษตัดสินใจปรับขึ้นภาษีลาภลอย (windfall tax) กับผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซ
นายเดวิด บันช์ ประธานประจำอังกฤษของเชลล์กล่าวที่งานประชุมประจำปีของสมาพันธ์อุตสาหกรรมอังกฤษ (CBI) ว่า “เราจะทำการประเมินแต่ละโครงการเป็นรายกรณีไป เพราะหากโดนเก็บภาษีมากขึ้นก็จะมีเงินไปลงทุนน้อยลง”
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายเจเรมี ฮันท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอังกฤษได้ประกาศแผนขึ้นภาษีลาภลอยกับกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันในทะเลเหนือจากเดิม 25% เป็น 35% ในช่วงที่ราคาพลังงานพุ่งทะยานขึ้นเพื่อช่วยอุดช่องโหว่สำคัญในการจัดหาเงินทุนสาธารณะ
รัฐบาลคาดการณ์ว่า ภาษีดังกล่าวซึ่งจะยืดเวลาจากสิ้นปี 2568 เป็น 2571 จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 4 หมื่นล้านปอนด์
ภาษีดังกล่าวหรือที่เรียกว่าภาษีชั่วคราวจากผลกำไรของบริษัทผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (Energy Profits Levy – EPL) จะทำให้ภาษีรวมที่ภาคส่วนดังกล่าวต้องจ่ายสูงถึง 75% ซึ่งเป็นหนึ่งในการเรียกเก็บภาษีแพงที่สุดในโลก แต่ก็ยอมให้นำการลงทุนส่วนมากในโครงการน้ำมันและก๊าซไปหักลดหย่อนภาษีได้
ในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (21 พ.ย.) เชลล์ระบุว่า EPL ควรจะออกแบบมาเพื่อให้แรงจูงใจในการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำมันและก๊าซ รวมถึงการลงทุนระยะยาวในพลังงานทดแทน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว EPL ควรจะรวม “ราคาสำรอง” ในกรณีที่ราคาน้ำมันและก๊าซร่วงลงอย่างหนัก และควรจะครอบคลุมการลงทุนในพลังงานลม, พลังงานไฮโดรเจน และเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน
เมื่อต้นปีนี้ เชลล์ระบุว่ามีแผนจะลงทุนมูลค่า 2-2.5 หมื่นล้านปอนด์ในช่วง 10 ปีข้างหน้าในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในอังกฤษ รวมถึงน้ำมันและก๊าซ, พลังงานลมนอกชายฝั่ง, การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และพลังงานไฮโดรเจน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 65)
Tags: CBI, windfall tax, ก๊าซ, น้ำมัน, พลังงาน, ภาษีลาภลอย, สมาพันธ์อุตสาหกรรมอังกฤษ, อังกฤษ, เชลล์, เดวิด บันช์