ก.อุตฯ ประกาศ “คาร์ซีท” เป็นสินค้าควบคุม เข้มผู้ผลิต-นำเข้าต้องได้ มอก. มีผลปี 66

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 65 มีมติเห็นชอบให้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (คาร์ซีท) ซึ่งเป็นอุปกรณ์เสริมใช้สำหรับให้เด็กนั่งโดยสารบนรถยนต์เพื่อเพิ่มความปลอดภัย เป็นสินค้าควบคุม เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนโดยเฉพาะเด็กเล็ก

ทั้งนี้ สอดคล้องตามภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม ด้านการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐาน โดยเตรียมออกกฎหมายเพื่อควบคุมให้ผู้ผลิต และผู้นำเข้าคาร์ซีททุกราย ต้องผลิตและนำเข้าเฉพาะคาร์ซีทที่ผ่านการทดสอบความปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เท่านั้น เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และเป็นตัวช่วยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของประชาชนผู้บริโภค

ด้าน นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธาน กมอ. กล่าวว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ประกาศใช้มาตรฐานที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือคาร์ซีท มอก. 3418-2565 เป็นมาตรฐานทั่วไปตั้งแต่เดือนต.ค.ที่ผ่านมา โดยอ้างอิงมาจากมาตรฐานสากล UN R 44 ซึ่งเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศด้านความปลอดภัยบนท้องถนนที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ผู้ประกอบการจะสมัครใจขอการรับรองหรือไม่ก็ได้

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนทุกระดับ ในการประชุมบอร์ด กมอ. ที่ผ่านมา จึงได้เห็นชอบให้ สมอ. กำหนดให้คาร์ซีทเป็นสินค้าควบคุม พร้อมทั้งเร่งรัดดำเนินการบังคับใช้ให้ทันภายในปี 66 เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กเล็ก ได้รับความปลอดภัยในการใช้งานคาร์ซีทที่ผ่านการทดสอบความปลอดภัยตามมาตรฐาน โดยให้ดำเนินการควบคู่ไปกับการแจ้งให้ผู้ประกอบการ ทั้งผู้ผลิตและผู้นำเข้าได้มีระยะเวลาในการเตรียมตัวในการขออนุญาตผลิตหรือนำเข้า เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

ด้านนายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า มาตรฐานคาร์ซีทดังกล่าว ครอบคลุมคาร์ซีทที่ติดตั้งด้วยระบบเข็ดขัดนิรภัยของรถยนต์ (ISOFIX) โดยแบ่งตามน้ำหนักของเด็กเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. น้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม 2. น้ำหนักไม่เกิน 13 กิโลกรัม 3. น้ำหนัก 9-18 กิโลกรัม 4. น้ำหนัก 15-25 กิโลกรัม และ 5. น้ำหนัก 22-36 กิโลกรัม

ทั้งนี้ ต้องผ่านการทดสอบด้วยการจำลองสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุ โดยการชนด้านหน้าด้วยความเร็ว 50 กม./ชม. และด้านหลังด้วยความเร็ว 30 กม./ชม. โดยติดเซ็นเซอร์ไว้ที่หุ่นเด็กจำลอง เพื่ออ่านค่าความรุนแรงจากการกระแทก และจะรายงานผลออกมาเป็นความเสียหายหรืออาการบาดเจ็บตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ต้องไม่เกินเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนดไว้

“ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าคาร์ซีทที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน มอก. 3418-2565 จะช่วยคุ้มครองลูกหลานของท่านให้ได้รับความปลอดภัยในการเดินทางอย่างแน่นอน” นายบรรจง กล่าว

สำหรับการบังคับใช้มาตรฐาน สมอ. จะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หลังจากนี้ จะทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมประกาศบังคับใช้ได้ภายในปี 66

ในการประชุมบอร์ด กมอ.ที่ผ่านมา นอกจากจะเห็นชอบให้คาร์ซีทเป็นสินค้าควบคุมแล้ว ยังได้เห็นชอบมาตรฐานอื่นๆ อีกจำนวน 125 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานหลอดยาฉีด ขวดยาฉีด วงล้อรถยนต์ แบตเตอรี่ ถังก๊าซและภาชนะบรรจุก๊าซ เครื่องขัดพื้นไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เตาปิ้งและเตาย่างเชิงพาณิชย์ และเครื่องจักรกลการป่าไม้ เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top