นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 9/2565 กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทยช่วงนี้ มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นบางพื้นที่ ส่วนผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตนั้น มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่ไม่รับวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น
อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ วัคซีน รวมทั้งภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) ไว้อย่างเพียงพอเพื่อรองรับการระบาดที่กำลังเพิ่มขึ้น โดยสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ มีความพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมถึงคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ได้เตรียมแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังให้มีความพร้อมทุกจังหวัดแล้ว
“ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ส่งหนังสือชื่นชมประเทศไทย ต่อการดำเนินงานในช่วงสถานการณ์โควิด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ประชุมในวันนี้ได้พิจารณาและเห็นชอบแนวทางการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ปี 66 โดยมีกรอบในการจัดหาและบริหารจัดการให้มีวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์) บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมถึงประชาชนทั่วไป ตามความสมัครใจ จำนวน 1-2 โดสต่อคน
ทั้งนี้ ให้พิจารณาสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัส และแนวโน้มประสิทธิผลของวัคซีนต่อสายพันธุ์ที่ระบาด และนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อให้คำแนะนำสำหรับการให้วัคซีนโควิด-19 ในปี 66 อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ได้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ภายหลังการประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อสนับสนุนภารกิจวัคซีนโควิด-19 ให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน เป็นที่ปรึกษา และอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นประธาน
ขณะเดียวกัน ยังแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเร่งรัดกำจัดมาลาเรีย เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรียเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด แต่งตั้งคณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 (7) กับมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
รวมถึงรับทราบมติคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค คือ การให้วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบนิวโมค็อกคัส (2p+1) ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเสนอชุดบริการวัคซีนเพื่อประกอบการพิจารณาเข้าเป็นสิทธิประโยชน์ในปี 67 โดยปรับเป็นวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (IPV) และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (PVC) เมื่ออายุ 2 เดือน และ 4 เดือน
สำหรับการให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) กรณีคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยให้วัคซีน 1 เข็มไปก่อนในกลุ่มเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 62-64 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เนื่องจากกรณีวัคซีนขาดชั่วคราว และเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 65-66 โดยให้ในเด็กหญิงที่มีอายุสูงสุดก่อนเป็นลำดับแรก ตามจำนวนวัคซีนที่จัดหาได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าการจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 รองรับการเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ต.ค. 65-ก.ย. 66) ระดับจังหวัด/กรุงเทพมหานคร โดยขณะนี้ทุกจังหวัดมีแผนปฏิบัติการรองรับแล้ว ส่วนผลการดำเนินงานด้านวัคซีนโควิด-19 ประเทศไทยฉีดไปแล้ว 143.7 ล้านโดส รับอย่างน้อย 1 เข็ม 57.3 ล้านคน คิดเป็น 82.4% รับครบตามเกณฑ์ 53.9 ล้านคน คิดเป็น 77.5% และรับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วกว่า 32.4 ล้านโดส ส่วนเด็กอายุ 6 เดือน-4 ปี ข้อมูลถึงวันที่ 11 พ.ย. 65 รวม 17,745 คน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ย. 65)
Tags: COVID-19, LAAB, ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, อนุทิน ชาญวีรกูล, โควิด-19