TOP คาด Q4/65 ขาดทุนสต็อกลดลงจากราคาน้ำมันสูงขึ้น-ค่าการกลั่นฟื้น

นายณัฐพล นพรัตน์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการพาณิชย์ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลงานไตรมาส 4/65 คาดว่าจะมีผลขาดทุนสต็อกน้ำมันลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/65 เนื่องจากราคาน้ำมันฟื้นตัวขึ้นมาพอสมควร หรือมาอยู่ที่ระดับ 90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนค่าการกลั่น (GRM) และค่าการกลั่นโดยรวม ก็น่าจะฟื้นตัวจากไตรมาส 3/65 จาก Crude Premium มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ความต้องการผลิตภัณฑ์หลักทั้งน้ำมันอากาศยาน (Jet) และน้ำมันดีเซลยังปรับตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 66 ยังคงรักษาระดับกำลังการผลิตในธุรกิจโรงกลั่น โดยคาดว่าจะมี Run rate ที่ดีขึ้นกว่าปีนี้ เนื่องจากในปีนี้มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น แต่ในปีหน้าจะไม่มีการปิดซ่อมบำรุงเลย รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันในปีหน้าปรับตัวสูงขึ้น ทำให้สามารถผลิตได้เต็มที่และขายได้ในประเทศและภูมิภาคได้เต็มที่เช่นเดียวกัน

ธุรกิจปิโตรเคมี ทั้งอะโรเมติกส์และโอเลฟินส์ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากสถานการณ์ดีมานด์และซัพพลายที่ดีขึ้นเล็กน้อย ทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานของธุรกิจฯ ปรับตัวดีขึ้นในปีหน้า อีกทั้งธุรกิจไฟฟ้าก็จะปรับตัวดีขึ้นด้วยจากการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า TOP SPP Expansion ที่จะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 66

ส่วนการลงทุนในปี 66 บริษัทจะมุ่งเน้นการลงทุนใน 2 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ให้ดำเนินการแล้วเสร็จตามแผน และการลงทุนใน Chandra Asri ที่จะมีการขยายกำลังการผลิตและเร่งดำเนินการความร่วมมือกับบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ประเทศอินโดนีเซีย ให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น

นายณัฐพล กล่าวว่า ทิศทางราคาน้ำมันดิบในปี 66 คาดว่าน่าจะอ่อนตัวลงเล็กน้อย หรือมาอยู่ที่ระดับ 90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยปีนี้ จากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยกดดัน ขณะที่ธนาคารกลางหลายประเทศยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อคุมเงินเฟ้อ รวมถึงจีนยังคงใช้มาตรการเปิด ปิดเมืองเพื่อควบคุมโควิด-19 อยู่ ทำให้ภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก (GDP) ในปีหน้าปรับตัวลงไปบ้าง โดยคาดการณ์ล่าสุดอยู่ที่ 2.7%

ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันในปี 66 คาดเพิ่มขึ้นจากปีนี้ราว 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน ส่วนในฝั่งของซัพพลาย ยังเป็นปัจจัยที่สนับสนุนราคาน้ำมันดิบอยู่ จากโอเปก ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่มีนโยบายชัดเจนที่จะรักษาสมดุลของตลาด ล่าสุดก็ได้มีการปรับลดกำลังการผลิตไป 2 ล้านบาร์เรล/วัน เพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบให้อยู่ระดับราว 90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยปีหน้าคาดว่าโอเปกจะเพิ่มกำลังการผลิตตามดีมานด์ที่ฟื้นตัวได้บ้าง แต่คงเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจาก Spare Capacity ของกลุ่มโอเปกเหลืออยู่เพียง 3 ล้านบาร์เรล/วัน แต่ผู้ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก หรือ สหรัฐ โดยรวมคาดเพิ่มอีก 2 ล้านบาร์เรล/วัน

ทั้งนี้ปัจจัยที่ต้องจับตา คือ การที่ยุโรปแบนน้ำมันดิบจากรัสเซียที่จะเริ่มวันที่ 5 ธ.ค.นี้ โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตของรัสเซียน่าจะได้รับผลกระทบบางส่วน

“มองว่าในปีหน้าเรื่องของซัพพลายและดีมานด์จะค่อนข้างสมดุลกัน โดยบางช่วงบางเวลาก็อาจจะติดลบเล็กน้อย ซึ่งน่าจะเห็นระดับราคาน้ำมันดิบพยุงตัวอยู่ได้ราวๆ 90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล” นายณัฐพล กล่าว

ด้านตลาดโรงกลั่น ครึ่งปีหลังของปีนี้ค่าการกลั่น (GRM) และ Product Spread ก็อ่อนตัวลงมาตามสภาวะที่คลี่คลายลง หลังก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปตึงตัว ขณะที่ในปี 66 คาด GRM และ Product Spread น่าจะกลับเข้าสู่ระดับปกติ แต่จะสามารถยืนเหนือระดับก่อนโควิด-19 ได้ แม้ว่าในปีหน้าคาดว่าจะมีกำลังการผลิตของโรงกลั่นใหม่เข้ามาในตลาดพอสมควร รวม 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน โดยดีเลย์มาจากปี 63-64 จากอยู่ในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 แต่ภาพรวมมองว่าจะใกล้เคียงกับดีมานด์ที่ฟื้นตัวขึ้น

ส่วนตลาด Gasoline ดีมานด์ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง นำโดยประเทศในฝั่งของทวีปเอเชียเป็นหลัก ขณะที่สหรัฐฯ คาดทรงตัวที่ระดับ 9 ล้านบาร์เรล/วัน ด้านการสต็อก Gasoline ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน หรือช่วงที่มีการขับขี่ค่อนข้างมาก Product Spread ของกลุ่มน้ำมัน Gasoline ก็จะได้แรงหนุนขึ้นมา

ปัจจัยกดดันในปีหน้า คาดมาจากล่าสุดจีนที่มีการประกาศโควต้าการส่งออกน้ำมันค่อนข้างมากในช่วงปลายปีนี้ และน่าจะมีการใช้นโยบายนี้ต่อเนื่องไปในปีหน้าด้วย แต่หากมองไปในช่วงครึ่งปีหลังของปีหน้า สถานการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงโควิด-19 ในจีนน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น ก็น่าจะส่งออกน้ำมันมายังตลาดภูมิภาคลดลง

ขณะที่ตลาดน้ำมันอากาศยาน (JET) คาดว่าจำนวนเที่ยวบินฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการใช้น้ำมัน Jet ทั่วโลกจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับไปสู่สภาวะปกติในช่วงปลายปี 66-67 ส่วนปัจจัยกดดันก็จะมาจากจีนที่อาจจะมีโควต้าการส่งออกน้ำมันฯ ด้วยเช่นกัน

กลุ่มน้ำมันดีเซลได้รับแรงหนุนพอสมควร โดยดีมานด์ปัจจุบันฟื้นตัวเข้าใกล้ก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว และการสต็อกก็อยู่ในระดับที่ต่ำมาก หรือต่ำกว่าระดับ 5 ปี นอกจากนั้นในช่วงเดือนก.พ. ฝั่งยุโรปก็จะแบนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากรัสเซีย ส่งผลให้ซัพพลายน้ำมันดีเซลในตลาดโลกตึงตัว โดยปัจจัยกดดัน คือ โควต้าการส่งออกน้ำมันฯของจีนที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/65 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1/66

น้ำมันเตา มองว่า Spread น่าจะฟื้นตัวจากระยะนี้ที่น่าจะติดลบอยู่ จากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวที่จะใช้น้ำมันเตาผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้ดีมานด์น้ำมันเตาในปีหน้าจะเติบโตจากปีนี้ รวมถึงการส่งออกจากรัสเซียก็มีแนวโน้มลดลง จากในการเรื่องของการแบน ทำให้จะเข้ามาซัพพอร์ตน้ำมันเตาให้ฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีนี้

พร้อมกันนี้ตลาดในประเทศปีหน้า ดีมานด์ในผลิตภัณฑ์หลักๆ โดยรวมจะฟื้นตัวต่อเนื่อง Gasoline จะเติบโตราว 8%, Jet โตอีกกว่า 50% ฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้จะยังไม่สามารถกลับไปในระดับเดิม ซึ่งต้องรอจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาเพิ่มขึ้น ส่วนดีเซล คาดเติบโตราว 1.5% จากฐานเดิมในปีนี้ที่โตถึง 16% แล้ว จากการนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ราคารก๊าซฯในตลาดโลกสูง

นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดอะโรเมติกส์ ยังคงอยู่ในสภาวะที่กดดัน จากมีกำลังการผลิตใหม่ค่อนข้างมากทั้งในปีนี้และปีหน้า ทั้งในฝั่ง PX และเบนซิน ทำให้ Spread ของ 2 ตัวนี้ยังไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดโอเลฟินส์ น่าจะใกล้เคียงกับตลาดอะโรเมติกส์ หรือมีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มขึ้นมาก จะเห็นได้ว่า PE, PP จะมีกำลังการผลิตสูงกว่าดีมานด์พอสมควร ด้านตลาดของ Base Oil ในปีนี้มีส่วนในการช่วยกลุ่มได้ดี เนื่องจากราคาน้ำมันเตาถูกกว่าปกติมาก ขณะที่ปีหน้าคาดว่าราคาน้ำมันเตาจะค่อยๆ กลับสู่ระดับปกติ รวมถึงซัพพลายของโรง Base Oil 2 และ 3 ที่จะเริ่มเดินเครื่องในปีหน้า ก็อาจทำให้มีแรงกดดันในกลุ่มของ Base Oil Spread บ้าง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ย. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top