นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ mai ยินดีต้อนรับ บมจ. กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายใน mai ภายใต้กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “KJL” ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565
KJL ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายตู้ไฟสวิทช์บอร์ด รางเดินสายไฟ อุปกรณ์ที่ใช้เดินสายไฟ และชิ้นส่วนงานโลหะแผ่นแปรรูปสั่งผลิตพิเศษ ด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ภายใต้เครื่องหมายการค้า KJL ซึ่งบริษัทจำหน่ายทั้งสินค้ามาตรฐานเคเจแอล และสินค้าสั่งผลิตที่ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานสากล นอกจากนี้ บริษัทได้ลิขสิทธิ์จาก “ชไนเดอร์ อิเล็คทริค” จากประเทศฝรั่งเศส เพื่อผลิตและจำหน่ายตู้สวิทช์บอร์ดไฟฟ้ารุ่น Prisma iPM โดยมีโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัท ได้แก่ ตัวแทนจำหน่าย ผู้รับเหมาไฟฟ้า ร้านค้าจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไป และลูกค้าผู้ใช้งานระดับองค์กร ใน 6 เดือนแรก ปี 2565 บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากสินค้ามาตราฐานเคเจแอลร้อยละ 69 สินค้าสั่งผลิตร้อยละ 22 ที่เหลือเป็นรายได้จากสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟฟ้า เศษเหล็ก โลหะแผ่น ร้อยละ 9 ของรายได้รวม
KJL มีทุนชำระหลังเสนอขาย 58 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 86 ล้านหุ้นและหุ้นสามัญเพิ่มทุน 30 ล้านหุ้น โดยเสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 22.5 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัท 4.5 ล้านหุ้น และกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท 3 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 9 – 11 พฤศจิกายน 2565 ในราคาหุ้นละ 13.50 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 405 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 1,566 ล้านบาท
ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) ที่ประมาณ 13.99 เท่า คำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง (ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565) ซึ่งเท่ากับ 111.96 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลังการเสนอขายต่อประชาชนในครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.97 บาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย
นายเกษมสันต์ สุจิวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KJL เปิดเผยว่าการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ นับเป็นอีกก้าวความสำเร็จและความภาคภูมิใจในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ก้าวสู่ความเป็นเลิศในอุตสาหกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายในแต่ละอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ได้มาตรฐานและคุณภาพที่รวดเร็วและตรงเวลา โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ จะนำไปเพื่อใช้ในการลงทุนศูนย์นวัตกรรม KJL (KJL Innovation Campus) ลงทุนก่อสร้างโรงงาน และเครื่องจักร ชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น ลงทุนในระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
KJL มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO คือกลุ่มครอบครัวสุจิวโรดมถือหุ้นร้อยละ 74.14 บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีจากงบเฉพาะกิจการและหลังหักเงินสำรองต่าง ๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายกำหนด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ย. 65)
Tags: KJL, ประพันธ์ เจริญประวัติ, เกษมสันต์ สุจิวโรดม