ในช่วงเดือนที่ผ่านมาบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกหลายบริษัทได้ประกาศปลดพนักงานกันถ้วนหน้า เช่น Meta บริษัทแม่ของ Facebook รวมไปถึง Instagram และ WhatsApp ประกาศปลดพนักงานทั่วโลกกว่า 87,000 คน, Amazon บริษัทอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศปลดพนักงานชุดแรกกว่า 10,000 คนและมีแผนจะปลดพนักงานเพิ่มอีกในปีหน้า, Sea บริษัทแม่ของ Shopee ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี ปีนี้ก็ได้ประกาศปลดพนักงานรวมกว่า 7,000 คนและเป็นพนักงานในประเทศไทยเกือบ 1,000 คน และ Twitter หลังจาก Elon Musk เข้าควบคุมกิจการก็มีแผนปลดพนักงาน 50% หรือครึ่งหนึ่งจำนวนประมาณ 5,000 คน จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่าอาชีพสายเทคโนโลยีที่เคยเป็นอาชีพแห่งอนาคตมีงานทำแน่นอนและมั่นคงกลับต้องเผชิญกับเหตุการณ์ดังกล่าวพร้อม ๆ กันทั่วโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดกับทั้งบริษัททุกขนาดไม่เว้นแม้แต่บริษัทใหญ่ระดับโลกจะไม่ได้เป็นอาชีพในฝันหรืออาชีพในอนาคตอีกต่อไป
ผู้ประกอบอาชีพสายเทคโนโลยีหรือในบริษัทเทคโนโลยีในประเทศไทยควรเตรียมความพร้อมกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างน้อยกฎหมายยังคงคุ้มครองและให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในฐานะพนักงานลูกจ้างในกรณีที่ต้องออกจากงานโดยไม่สมัครใจและไม่มีความผิด
โดยเมื่อถูกเลิกจ้างกะทันหันตามกฎหมาย (ของประเทศไทย) แล้วลูกจ้างจะได้รับเงินชดเชย 2 ประเภทจากนายจ้าง คือ ค่าชดเชยถูกเลิกจ้างและค่าบอกกล่าวล่วงหน้า
ซึ่งค่าบอกกล่าวล่วงหน้านั้น ลูกจ้างจะได้ก็ต่อเมื่อถูกเลิกจ้างโดยไม่สมัครใจและไม่ได้มีการบอกกล่าวก่อน (แจ้งแล้วให้ออกจากการทำงานเลย) นายจ้างจะต้องจ่ายค่าบอกล่วงหน้า 1 งวดของการจ่ายค่าจ้าง เช่น ลูกจ้างได้เงินเดือนรอบละ 30 วัน นายจ้างจะต้องแจ้งเลิกจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบอย่างน้อย 30 วัน ไม่เช่นนั้นก็จะต้องจ่ายค่าบอกกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน เป็นต้น
ส่วนจำนวนค่าชดเชยถูกเลิกจ้างนั้นจะได้รับจากนายจ้างเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับเงินเดือนและอายุงาน
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน (1 เดือน)
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน (3 เดือน)
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน (6 เดือน)
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน (8 เดือน)
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน(10 เดือน)
แต่อย่างไรก็ตามมีบางกรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยถูกเลิกจ้าง
- ลูกจ้างลาออกเอง
- ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน ซึ่งหนังสือเตือนนั้นให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
- ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร
- ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
- กรณีการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และนายจ้างเลิกจ้าง ตามกำหนดระยะเวลานั้น เช่น งานที่มีระยะเวลาเริ่มและสิ้นสุดแน่นอน หรืองานตามฤดูกาล
นอกจากนั้นแล้วลูกจ้างยังอาจได้รับสิทธิอื่น ๆ อีกตามสัญญาจ้างงาน (ถ้ามี) โดยเงินชดเชยดังกล่าวนายจ้างจะต้องจ่ายให้กับลูกจ้างภายในวันสุดท้ายที่ทำงาน หากนายจ้างไม่จ่ายเงินดังกล่าวลูกจ้างสามารถร้องเรียกต่อพนักงานตรวจแรงงาน คุ้มครองแรงงานในแต่ละจังหวัด หรืองานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพราะถือว่าเป็นการเข้าข่ายการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
เหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ต้องถูกเลิกจ้างแบบไม่ทันตั้งตัวนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคนแม้ว่าจะทำงานในองค์กรที่มีขนาดใหญ่หรือความมั่นคงมากเพียงใด ในฐานะพนักงานลูกจ้างมีความจำเป็นต้องทราบสิทธิตามสัญญาจ้างและกฎหมาย เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ครบถ้วน ซึ่งสิทธิและความคุ้มครองดังกล่าวอย่างน้อยที่สุดแล้วจะเป็นส่วนช่วยให้ดำเนินชีวิตหรือเดินต่อในสายอาชีพนั้น ๆ ได้ต่อไป
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ
ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ย. 65)
Tags: Cryptocurrency, Decrypto, คริปโทเคอร์เรนซี, ลูกจ้าง, เทคโนโลยี