ส.ว. ยื้อญัตติลงประชามติแก้รธน. เห็นชอบตั้งกมธ.ศึกษาก่อน

ที่ประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาได้มีการพิจารณาญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามที่สภามีมติในการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ

โดยที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากเห็นชอบให้ตั้งกรรมาธิการฯ 151 เสียง ไม่เห็นด้วย 26 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง จากผู้มาลงมติทั้งสิ้น 192 คน

ทั้งนี้ ในการอภิปรายของ ส.ว.มีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ทั้งที่เห็นด้วยกับญัตติที่เสนอให้ ครม.ทำประชามติสอบถามประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะเป็นกระบวนการตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยต่อกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการดังกล่าว เนื่องจากมองว่าเป็นประเด็นที่มีเจตนาทางการเมืองของพรรคการเมืองที่ต้องการนำไปขยายผลในการหาเสียงเลือกตั้ง พร้อมกับเสนอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่พบปัญหา ผ่านการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันพระปกเกล้า และให้ตัวแทนประชาชนที่ทำหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย (ศส.ปชต.) พิจารณาส่งตัวแทนเข้าดำเนินการ

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.กล่าวว่า ส่วนตัวยังยืนยันว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่มีฉบับไหนดี 100% แต่เพื่อลดความขัดแย้งของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเห็นสมควรที่จะต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะไปทำประชามติในวันเดียวกับการเลือกตั้ง เพราะพิจารณาแล้วผลเสียมากกว่าผลดี หากทำวันเดียวกันประชาชนอาจจะสับสนและเป็นข้ออ้างของบางพรรคใดพรรคหนึ่งที่จะใช้ในการหาเสียง ตนไม่อยากให้เป็นเรื่องการหาผลประโยชน์ของพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า หากหารือกันแล้วพร้อมที่จะแก้ไข ตนมองว่ามีอยู่ 2 ทางเลือกคือ ทำประชามติก่อนการเลือกตั้ง หรือทำมติหลังการเลือกตั้ง แต่ตนมองว่าน่าจะเกิดหลังการเลือกตั้ง รัฐบาลต่อไปมีหน้าที่แก้รัฐธรรมนูญ และเมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จคาดว่าจะใช้เวลา 2 ปีและจัดการยุบสภา การเลือกตั้งใหม่ด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าทำมติก่อนการเลือกตั้งคิดว่าเวลาที่เหลือไม่น่าพอ และเหตุผลที่ว่าประหยัดงบประมาณตนคิดว่าไม่น่าใช่ เพราะในการจัดทำประชามติเป็นการลงทุนในระบอบประธิปไตย จะเสียเงินเท่าไหร่ก็ถือว่าคุ้มค่า ถ้าหากว่าประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง

ด้านนายวันชัย สอนศิริ ส.ว.กล่าวว่า ขอให้ ส.ว.ร่วมกันเร่งดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะตนมองว่ากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน แม้ ส.ว.จะมีมติเห็นชอบแต่จะไม่ทันดำเนินการใน ครม.ชุดปัจจุบัน ขณะที่ ส.ว.ปัจจุบัน จะหมดวาระในเดือน พ.ค.67 หากนับหลังเลือกตั้ง ส.ส.เดือน พ.ค.66 เท่านั้น หากไม่รวมมือกันไม่มีทางที่จะแก้ไขเสร็จทันในสมัย ส.ว. นี้

“ส.ว.ชุดนี้ยังมีสิทธิโหวตนายกฯ ภายใน 1 ปี เมื่อเรามีสิทธิ มีโอกาสร่วมในการแก้ไข และผลักดัน จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญอยู่มือของพวกเรา เราจะมีอำนาจต่อรองและมีอำนาจเสนอประเด็นต่างๆ ที่เราต้องการ ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ในที่สุดต้องถูกแก้แน่นอน เพราะดูจากเสียงของ ส.ส.ทั้งหมดแล้ว เขาตั้งธงแก้ทั้งฉบับชัดเจน เพียงแต่จะแก้ในยุค ส.ว.ชุดเรา หรือ ส.ว.ชุดหน้า หากปี 2567 หมดยุคเรา เราก็จะได้แต่นั่งตาปริบๆ เพราะยังไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญจะด้วยเหตุผลกลใด หรือการดึงเกม เราจึงไม่ควรคัดค้านการแก้ไข และควรเร่งให้เกิดการแก้ไข” นายวันชัย กล่าว

ขณะที่นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. กล่าวคัดค้านการลงมติเห็นชอบกับญัตติดังกล่าว เพราะมองว่าเป็นประเด็นที่อาจนำไปใชประโยชน์ทางการเมืองช่วงเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี ยอมรับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเกิดขึ้น แต่ในกระบวนการไม่จำป็นต้องทำให้เกิดการสูญเสียงบประมาณหลักหมื่นล้านบาทในช่วงที่ประเทศไม่มีเงิน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ย. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top