ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า วิกฤติความมั่นคงด้านอาหารของโลกมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจากหลายปัจจัย โดยปัจจุบันวิกฤติอาหารโลก (Global food crisis) มีแนวโน้มขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงมากขึ้น ท่ามกลางความเสี่ยงด้านต่างๆ ในระบบนิเวศ ที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารในระดับต้นน้ำ ทั้งในส่วนของการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ระดับกลางน้ำ อย่างการแปรรูป และผลิตอาหาร เรื่อยมาจนถึงปลายน้ำ อย่างการค้าขายและขนส่งสินค้าต่อไปยังผู้บริโภคขั้นสุดท้ายในห่วงโซ่การผลิตอาหาร
อย่างไรก็ดี วิกฤติการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในรอบนี้เปรียบเสมือนระเบิดเวลา และสัญญาณเตือนภัยครั้งใหญ่ ที่ผู้คนทั่วโลกต้องตระหนักและเตรียมพร้อมรับมือ สอดคล้องกับรายงานของ Global Report on Food Crises ประจำปี 65 ซึ่งระบุว่า ประชากรมากถึงเกือบ 193 ล้านคนใน 53 ประเทศทั่วโลก กำลังเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหารอย่างเฉียบพลัน
ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลพบว่าวิกฤติอาหารโลกรอบนี้ เกิดจากสาเหตุหลัก 3 ประการ ได้แก่
1. การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยน (Turning point) สำคัญ ที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นตัวเร่งที่เข้ามาเพิ่มแรงกดดันต่อวิกฤติความมั่นคงด้านอาหารที่มีอยู่ก่อนแล้วให้กลับยิ่งเลวร้ายลงไปอีก รวมทั้งยังส่งผลกระทบในวงกว้างต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มโลก ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน
สำหรับผลกระทบต่ออุปสงค์นั้น แม้ว่าโควิด-19 จะมีผลให้ความต้องการสินค้าอาหารและเครื่องดื่มบางประเภทปรับตัวลดลง โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยที่ไม่ได้จำเป็นต่อการดำรงชีพ และสินค้าที่มีราคาค่อนข้างแพง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ซบเซาและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง
ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ดังกล่าวก็ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าบางประเภทเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ อย่างผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่จำเป็นในการดำรงชีพ และสามารถเก็บไว้บริโภคได้นานโดยไม่เน่าเสียง่าย ส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีการกักตุนสินค้าประเภทเหล่านี้ไว้สำหรับบริโภคภายในครัวเรือนในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้สินค้าอาหารและเครื่องดื่มบางประเภทขาดแคลนในระยะสั้นๆ
ขณะที่ด้านอุปทาน เป็นผลกระทบต่อเนื่องที่มาจากการที่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารโลกต้องสะดุดลง (Supply chain disruption) ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการปิดประเทศชั่วคราว มาตรการล็อกดาวน์ รวมทั้งการจำกัดการเดินทาง หรือการเคลื่อนย้าย และขนส่งสินค้า วัตถุดิบ รวมทั้งแรงงานระหว่างประเทศหรือระหว่างเมือง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนนำไปสู่ปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร
2. สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงลากยาวมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนก.พ. 65 จนถึงปัจจุบันและยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในเร็ววันนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารโลก และทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นมากจากอุปทานที่หายไปจากตลาด ทั้งนี้ เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชที่สำคัญของโลกหลายชนิด โดยรัสเซียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดในตลาดโลก ขณะที่ยูเครนก็เป็นผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันดอกทานตะวัน (42%) ข้าวโพด (16%) ข้าวบาร์เลย์ (10%) และข้าวสาลี (9%)
นอกจากนี้ การสู้รบที่เกิดขึ้นยังทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตในบางพื้นที่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นราคาปุ๋ย และเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรต่างๆ ยังปรับตัวสูงขึ้นมากอีกด้วย เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบสำหรับทำปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป รวมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ซึ่งเป็นปลายน้ำของห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมอาหารแพงขึ้นตามไปด้วย
อนึ่ง ภาวะสงครามที่ยื้ดเยื้อ รวมทั้งความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มขยายวงกว้างขึ้น ยังส่งผลให้ประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารบางประเทศ ตัดสินใจดำเนินนโยบายระงับ หรือจำกัดการส่งออกอาหารเป็นการชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารพื้นฐานในการดำรงชีพ และน้ำมันพืช เพื่อไม่ให้กระทบต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศตนเอง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและสะสมสต็อกไว้เพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
3. การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (Climate change) ซึ่งนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่มีส่วนทำให้วิกฤติความมั่นคงด้านอาหารทั่วโลกมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เป็นผลจากสภาพภูมิอากาศโลกที่มีความผิดเพี้ยนจากปกติ รวมทั้งยังมีแนวโน้มเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศแบบสุดขั้วทั้งร้อนจัดและหนาวจัด คลื่นความร้อน พายุไต้ฝุ่น รวมทั้งปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม รวมไปถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เช่น ดินถล่ม ภูเขาไฟระเบิด รวมไปถึงแนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเหมาะสมทางกายภาพในการทำเกษตรกรรม การทำฟาร์มปศุสัตว์ รวมทั้งยังมีผลต่อสภาพแวดล้อมโดยรวมในระบบนิเวศอีกด้วย และส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรของโลกโดยรวมมีแนวโน้มปรับลดลง
สำหรับในระยะสั้น ไทยมีโอกาสได้รับอานิสงส์จากทั้งปริมาณการส่งออก และราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดย EIC มองว่า การส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารของไทย น่าจะได้รับประโยชน์จากวิกฤติขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้น เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารลำดับต้นๆ ของโลก และมีบทบาทสำคัญในฐานะครัวโลก (Kitchen of the world) อยู่แล้ว เนื่องจากมีผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย และมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก
ขณะเดียวกัน ยังสามารถผลิตได้ในปริมาณที่มากเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศและส่งออก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรที่เป็นพืชอาหารสำคัญ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล ซึ่งไทยเป็นผู้นำหรือผู้ส่งออกลำดับต้นๆ ในตลาดโลกอยู่แล้ว รวมทั้งผลไม้สดอย่างทุเรียน หรือสินค้าเกษตรแปรรูป เช่น สับปะรดกระป๋อง และสินค้าประมงแปรรูป เช่น ทูน่ากระป๋อง ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพทางการแข่งขัน และครองตำแหน่งผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกมาอย่างยาวนาน
ในทางกลับกัน วิกฤติความมั่นคงด้านอาหารโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น กำลังกลายเป็นความเสี่ยงในระยะยาวสำหรับประเทศผู้ส่งออกอาหารอย่างไทย แม้ว่าในระยะสั้นไทยจะได้ร้บอานิสงส์จากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าความกังวลเกี่ยวกับเรื่อง Food security ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก กำลังกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ประเทศต่างๆ หันมาตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ และมีความพยายามที่จะพึ่งพาตนเองด้านอาหารมากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ ท่ามกลางความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น โดยได้เริ่มมีการวาง Roadmap ในเรื่องนโยบายความมั่นคงด้านอาหารกันอย่างจริงจังมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการพื้นที่ทำเกษตรกรรมและการทำฟาร์มปศุสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ในภาคเกษตร เพื่อเอาชนะข้อจำกัดทางธรรมชาติและอุปสรรคต่างๆ
EIC มองว่า การดำเนินนโยบายเรื่องความมั่นคงด้านอาหารเชิงรุกของคู่ค้าอย่างจีน ถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าในกลุ่มธัญพืช พืชอาหาร ผลไม้ เนื้อสัตว์ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารของไทยในระยะยาว เนื่องจากจีนมีแนวโน้มที่จะนำเข้าสินค้าดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่อง และหันไปพึ่งพาผลผลิตภายในประเทศมากขึ้น และ/หรือ นำเข้าจากพันธมิตรทางธุรกิจของตนเองในต่างประเทศแทน ซึ่งจะทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มพืชอาหาร เกษตรแปรรูป และอาหารของไทยไปยังตลาดจีนทยอยปรับลดลงตามไปด้วย เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าหลักของไทยในสินค้าอาหารหลายชนิด
“ภายใต้บริบทแวดล้อมต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น คือจุดเปลี่ยนที่น่าจับตามองของการทำเกษตรกรรมในโลกแห่งอนาคต และกำลังมีส่วนสั่นคลอนบทบาทของไทย ในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก เพราะโมเดลการเติบโตของธุรกิจการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตกำลังถูกขับเคลื่อน โดยอาศัยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเป็นตัวนำร่อง ไม่ใช่จากความโชคดีของทำเลที่ตั้งทางกายภาพของประเทศ และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติแบบในน้ำมีปลาในนามีข้าวเหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว” บทวิเคราะห์ระบุ
EIC มองว่า ดังนั้นการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่ทันสมัย และนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสม จึงเป็นทั้งทางเลือกและทางรอดที่ไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การนำเทคโนโลยีดิจิทัล และระบบเซ็นเซอร์มาปรับใช้อย่างเหมาะสมเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ (Yield) และลดต้นทุน รวมถึงการมุ่งไปสู่การเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision agriculture) โดยเริ่มต้นตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยในกระบวนการเพาะปลูก อาทิ การเก็บข้อมูลระยะใกล้จากเซ็นเซอร์ที่ใช้วัดสภาพดิน ความชื้น แร่ธาตุ ความเป็นกรดเป็นด่าง และค่าต่างๆ ในแปลงเพาะปลูก จากข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big data เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาช่วยวิเคราะห์และระบุสภาพพื้นที่เพาะปลูก ชนิดพืช สถานะการเจริญเติบโต และปัญหาต่างๆ ได้อย่างละเอียดถึงระดับแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร
นอกจากนี้ การทำการเกษตรภายในสิ่งปลูกสร้างอย่าง Indoor farming หรือ Vertical farming เพื่อควบคุมสภาวะแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่มีราคาสูง ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่เพาะปลูก และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ที่มีแนวโน้มผิดเพี้ยนและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าวนี้ถือเป็นสิ่งที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับการปรับตัวของเกษตรกรรายย่อยที่มีเงินทุนไม่มากนัก และกลายเป็นข้อจำกัดสำคัญในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีต้นทุนสูง ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลในต่างประเทศพบว่า ปัจจุบันได้มีการนำระบบแพลตฟอร์มเข้ามาช่วยให้เกษตรกรรายย่อยได้ประโยชน์จาก Economies of scale โดยการแบ่งปันทรัพยากรระหว่างกันเองอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยควรมองหาโอกาสทางธุรกิจ เพื่อเชื่อมโยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มในตลาดโลกที่กำลังเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพในการพัฒนาด้านเกษตรกรรมอย่างจีน เพื่อรองรับกับความท้าทายด้านต่างๆ จากการที่จีนจะกลายมาเป็นคู่แข่งกับไทยในอนาคต รวมไปถึงการแสวงหาตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอาหารใหม่ๆ เพื่อขยายฐานผู้บริโภคและกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดส่งออกเดิม
ประเด็นเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ภาครัฐและผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม และต้องเตรียมรับมือไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย และขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารเชิงนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นให้กับระบบเศรษฐกิจที่สอดรับกับยุทธศาสตร์การเติบโตแบบ Value-based economy ของไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ย. 65)
Tags: SCB EIC, SCBEIC, ความมั่นคงด้านอาหาร, ธนาคารไทยพาณิชย์, วิกฤติอาหารโลก, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ