โกลด์แมน แซคส์ ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจอินเดียในปี 2566 โดยระบุว่าอุปสงค์ผู้บริโภคได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น และปัจจัยหนุนจากการที่อินเดียกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งหลังช่วงโควิด-19 นั้น เริ่มลดน้อยลง
ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ที่นำโดยแอนดรูว์ ทิลตัน รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มีแนวโน้มขยายตัว 5.9% ในปี 2566 ลดลงจากคาดการณ์เดิมระดับ 6.9%
รายงานระบุว่า “อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มจะชะลอตัวในครึ่งแรกของปี 2566 เนื่องจากแรงหนุนจากการเปิดเศรษฐกิจเริ่มลดน้อยลง และการดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินได้ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศ ส่วนในครึ่งหลังของปีนั้น เศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มขยายตัวรวดเร็วขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่การส่งออกสุทธิมีแนวโน้มลดลง และวงจรการลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้น”
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า อินเดียซึ่งผ่านพ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกลับมาทวงตำแหน่งประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ขยายตัวเร็วที่สุดในปีงบการเงินที่สิ้นสุดในเดือนมี.ค.ปีนี้ กำลังเผชิญกับความท้าทายมากมาย ตั้งแต่การใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จนถึงปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการขาดดุลด้านการคลังและการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น
ทีมนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์กล่าวว่า สกุลเงินรูปีเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค แม้จะอ่อนค่าอยู่บ้างเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของอินเดียจะชะลอตัวสู่ระดับ 6.1% ในปี 2566 จากคาดการณ์เดิมที่ 6.8% ในปีนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ย. 65)
Tags: สกุลเงินรูปี, อัตราเงินเฟ้อ, อินเดีย, เศรษฐกิจอินเดีย, โกลด์แมน แซคส์