การพุ่งขึ้นของค่าเงินบาทไทยอาจมาถึงจุดสิ้นสุด หากไร้ปัจจัยหนุนใหม่ ๆ เช่น การหวนคืนมาของนักท่องเที่ยวจีน หลังจากเครื่องบ่งชี้ทางเทคนิคแสดงให้เห็นว่า เงินบาทถูกเทขายมากจนเกินไป
ทั้งนี้ เงินบาทพุ่ง 6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เงินบาทกลายเป็นสกุลเงินที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับสองในเอเชีย หลังจีนผ่อนปรนการบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และนักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ข้อมูลอย่างเป็นทางการระบุว่า GDP ไตรมาส 3/2565 ของไทยขยายตัว 4.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 4 ปี
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากตัวบ่งชี้ Slow Stochastics ว่า การปรับตัวขึ้นของค่าเงินบาททำให้สกุลเงินดังกล่าวหลุดพ้นจากการเผชิญแรงเทขายมากเกินไป สู่การมีแรงซื้อมากเกินไปเมื่อประมาณ 2 เดือนก่อน นอกจากนี้ แนวต้านที่ค่าเฉลี่ย 200 วัน และที่ระดับสูงสุดเมื่อเดือนส.ค.ที่ 35.057 บาทต่อดอลลาร์บ่งชี้ว่า เงินบาทจะชะลอการปรับขึ้น
“มูลค่าเงินบาทค่อนข้างมีความชัดเจนในแบบจำลองของผม ดังนั้นหากไม่มีการเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐในปริมาณมาก และความต้องการเสี่ยงที่มากยิ่งขึ้นในระดับโลก หรือข่าวดีเรื่องจีนเปิดเศรษฐกิจ ก็ยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้น โดยค่าเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวที่กรอบ 35.12 – 36.40 บาทต่อดอลลาร์” นายกาลวิน เชีย นักกลยุทธ์ปริวรรตเงินตราตลาดเกิดใหม่ของบริษัทแนตเวสต์ มาร์เก็ตส์ในสิงคโปร์กล่าว
เงินบาทได้ประโยชน์จากการคาดการณ์เพิ่มมากขึ้นว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยปีหน้า แต่สถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงไป หลังจากที่สมาชิกหลายรายของเฟดยังคงออกมาแสดงความคิดเห็นเชิงรุก โดยนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ระบุในวันพฤหัสบดีที่ 17 พ.ย. ระบุว่า เฟดควรขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มสู่ระดับ 5% – 5.25% เป็นอย่างน้อย ซึ่งฉุดให้เกิดแรงเทขายในตลาดเงิน
“ค่าเงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนอย่างนักท่องเที่ยวจีนและราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง” นายราจีฟ เด เมลโล ผู้จัดการพอร์ตลงทุนมหภาคระดับโลกของบริษัทจีเอเอ็มเอ แอตเซ็ต เมเนจเมนต์กล่าว พร้อมเสริมว่า “จีนจะอนุญาตให้ประชาชนเดินทางไปต่างประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ชาวจีนได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ ไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ย. 65)
Tags: ค่าเงินบาท, นักท่องเที่ยวจีน, เงินบาท, เศรษฐกิจไทย