หุ้นไทยแนวโน้มดัชนีเช้าแกว่งซึมลงหลังราคาน้ำมันร่วงต่อเนื่อง จับตา GDP Q3/65 ของไทย

นักวิเคราะห์ฯ คาดตลาดหุ้นไทยเช้านี้แกว่งตัวซึมลงรับแรงกดดันกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันปรับลดลงต่อเนื่องทำจุดต่ำสุดรอบ 6 สัปดาห์ แต่เชื่อว่าจะมีแรงหนุนจากกลุ่มเปิดเมือง แนะติดตามการประกาศ GDP ไตรมาส 3/65 ของไทย และ ตัวเลข LPR ของจีน ในวันนี้ พร้อมให้กรอบการเคลื่อนไหวที่แนวรับ 1,610 จุด และ 1,600 จุด แนวต้าน 1,620-1,622 จุด และ 1,630 จุด

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคระห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้มีโอกาสที่จะแกว่งตัวในทิศทางที่ซึมตัวลดลง โดยคาดว่าจะได้รับแรงกดดันที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องทำจุดต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์

แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจะมีแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเปิดเมือง อาทิ กลุ่มโรงพยาบาล และ กลุ่มค้าปลีก เป็นต้น โดยยังคงต้องติดตามการเปิดเผยตัวเลข GDP ไตรมาส 3/65 ของประเทศไทย และ การประกาศตัวเลขอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี และ 5 ปี ของจีนในวันนี้ด้วย

พร้อมให้กรอบการเคลื่อนไหวที่แนวรับ 1,610 จุด และ 1,600 จุด แนวต้าน 1,620-1,622 จุด และ 1,630 จุด

ประเด็นพิจารณาการลงทุน

– ตลาดหุ้นนิวยอร์ก (18 พ.ย.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,745.69 จุด เพิ่มขึ้น 199.37 จุด หรือ +0.59%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,965.34 จุด เพิ่มขึ้น 18.78 จุด หรือ +0.48% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,146.06 จุด เพิ่มขึ้น 1.10 จุด หรือ +0.01%

– ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 27,982.00 จุด เพิ่มขึ้น 82.23 จุด หรือ +0.25%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 17,654.15 จุด ลดลง 338.39 จุด หรือ -1.88% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,078.06 จุด ลดลง 19.18 จุด หรือ -0.62%

– ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (18 พ.ย.65) 1,617.38 จุด เพิ่มขึ้น 2.43 จุด, +0.15%

– นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 552.47 ลบ.เมื่อวันที่ 18 พ.ย.65

– ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ธ.ค. (18 พ.ย.) ล ร่วงลง 1.56 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 80.08 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2565 และร่วงลง 9.98% ในรอบสัปดาห์นี้

– ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (18 พ.ย.) อยู่ที่ 8.25 ดอลลาร์/บาร์เรล

– เงินบาทเปิด 35.90 อ่อนค่าจากสัปดาห์ก่อน ตลาดรอตัวเลข GDP ไทย ให้กรอบ 35.85-36.15

– คมนาคมดัน 3 โปรเจค ค้างท่อลุ้น ครม.เคาะสัญญาร่วมทุนเอกชน ทั้งปิดดีลประมูลสายสีส้ม-แก้สัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน-จบปมสัมปทานสายสีเขียว พร้อมเข็นโครงการใหม่ 3.11 แสนล้าน

– ซีอีโอธุรกิจหนุน “เศรษฐา ทวีสิน” นั่งนายกฯ แก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องเร่งด่วน เลือก “เพื่อไทย” แกนนำ ตั้งรัฐบาล ขณะที่ ‘แพทองธาร-พิธา-พล.อ.ประยุทธ์-สมคิด” ติดกลุ่มที่ซีอีโอเลือก มอง 5 นโยบายทำทันที แก้เศรษฐกิจ-แก้ความจน ลดเหลื่อมล้ำ ปรับกฎหมายรับเศรษฐกิจดิจิทัล ดึงเงินลงทุนต่างประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรถไฟเร็วสูง ท่าเรือน้ำลึก “เอกชน” มองการเมืองหลังเอเปค รัฐบาลคุมได้ทั้งใน-นอกสภา “สนั่น” ตั้งสเปค นายกฯ คนใหม่ ต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจ นำข้อสรุปเอเปคขับเคลื่อนทั้ง “เอฟทีเอ-บีซีจี”

– ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า หลังการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคได้จบลง ททท.เห็นสัญญาณที่ดีต่อการท่องเที่ยวของไทย เพราะงานประชุมเอเปคได้มีการใช้ซอฟต์เพาเวอร์ในเรื่องของอาหารและความเป็นประเทศไทยได้ดีมาก จึงเชื่อว่าซอฟต์เพาเวอร์ด้านอาหารและวัฒนธรรมของไทย ที่โชว์ในงานจะออกสู่สายตาต่างประเทศ นำนักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวไทยได้มากขึ้น โดยปี 2566 มั่นใจว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะกลับมาจำนวน 80% ของรายได้ในปี 2562 แน่นอน

– ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 3 ปี 2565 ใน 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมพบดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 48.6 ปรับตัวดีขึ้นจาก 46.0 ในไตรมาส 2 ของปี จากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายส่งผลให้กำลังซื้อเอกชนเพิ่มขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการลงทุน

– ผู้ว่าฯแบงก์ชาติส่งสัญญาณเตือนปี 2566 ปัจจัยเสี่ยงโลกสูงขึ้น เตรียมรับมือ “กับดักระเบิดโลก” ผุดต่อเนื่อง เผยตลาดเงินโลกเกิดภาวะผิดปกติ “น้ำลดตอผุด” จากทั่วโลกเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วแรง ไทยเสี่ยงเผชิญเงินไหลออก-ค่าเงินผันผวน ยืนยันเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแต่อาจไม่ราบรื่น กังวลความเสี่ยงในประเทศ จากนโยบายประชานิยมสุดโต่งพรรคการเมืองหาเสียง “พักหนี้-พักดอกเบี้ย” ยาวหลายปีกระทบเสถียรภาพแบงก์

– คลังเคาะ “ช้อปดีมีคืน” ลดหย่อนภาษีสูงสุด 4 หมื่นบาท ชง ครม. 29 พ.ย.นี้ กระตุ้นเศรษฐกิจต้นปีหน้า พร้อมแพ็กเกจ “ของขวัญปีใหม่” ทั้งต่อเวลาลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนองบ้าน-แบงก์รัฐลดดอกเบี้ยลูกหนี้ชำระดี “เลขาธิการ สศช.” ชี้ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมช่วงปลายปีนี้ ห่วงปีหน้า “เสี่ยงกว่า”

 

หุ้นเด่นวันนี้

– BDMS (ฟินันเซีย ไซรัส) “ซื้อ” ราคาเป้าหมายจาก FSSIA 33 บาท โทนการประชุมนักวิเคราะห์สัปดาห์ก่อนเป็นบวก ผู้บริหารปรับเพิ่มเป้ารายได้ปี 2565 ขึ้นเป็น +22% Y-Y (เกินคาด +15-20% Y-Y) โดยคาดโมเมนตัม ไตรมาส 4/65 ยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่องจากสัญญาณบวกในเดือน ต.ค. จำนวนผู้ป่วยไทยเหนือกว่าช่วงก่อน COVID-19 แล้ว ขณะที่ผู้ป่วยต่างชาติกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อน COVID-19 เป้าหมายการเติบโตของรายได้ในปี 2566 -2568 อยู่ที่ +6-8% CAGR ซึ่งใกล้เคียงกับกับในอดีตที่จะเติบโตราว 1.5-2 เท่าของการเติบโตของ GDP เราคาดกำไรปกติปี 2565-2566 +47% Y-Y และ +14% Y-Y ทำ New High ต่อเนื่อง

– MAKRO (ดาโอ) เป้าเชิงกลยุทธ์ 40.50 บาท รายได้จากการขายและค่าเช่าฟื้นตัวต่อเนื่องได้อานิสงค์จากการเปิดเมือง (9M22 รายได้รวม +108%YoY มีการรวมงบ Lotus ด้วย) ที่สำคัญอัตรากำไรขั้นต้นงวด 9 เดือนปี 65 ฟื้นตัวขึ้นมาที่ระดับ 16.3% เทียบกับงวด 9 เดือนปี 66 ที่ 11.6% แนวโน้มผลประกอบการในปี 66 ดีกว่าปี 65 อย่างมีนัยสำคัญผลลัพธ์จากการ Rebranding, การทำ Cost Improvement, การจัด Mixture ของรายได้ที่เน้นส่วนมาร์จิ้นสูงจะช่วยให้กำไรของ MAKRO ดีขึ้น DAOL ประเมินกำไรสุทธิปี 2565-2566 ที่ 7.98 พัน ลบ. และ 1.28 พัน ลบ. -42%YoY, +60% ตามลำดับ

– COM7 (กรุงศรี) “ซื้อ” เป้า IAA Consensus 40.5 บาท ได้ประโยชน์จากข่าว ครม.เตรียมเสนอมาตรการ ช้อปดีมีคืน เพิ่มเงินหักลดหย่อนภาษีจาก 3 หมื่นเป็น 4 หมื่นบาท และคาดว่าจะได้ปรับเข้าคำนวณในดัชนี SET50 รอบใหม่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ย. 65)

Tags: , ,
Back to Top