นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ฝุ่น PM.2.5 มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 หากสัมผัสกับฝุ่น PM2.5 ในสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 66%
โดย Sheppard N และคณะ จากมหาวิทยาลัยโมนาร์ช ประเทศออสเตรเลีย ทำการทบทวนข้อมูลวิชาการอย่างเป็นระบบ และวิเคราะห์อภิมานจากงานวิจัยทั่วโลกจำนวน 18 ชิ้น
จากการวิจัยต่างๆ ที่มีนั้น แม้จะยังฟันธงถึง cause-effect relationship ไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดของการออกแบบแต่ละการวิจัย แต่อย่างน้อยก็สะท้อนถึงความสำคัญของสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะมีฝุ่นหรือไม่มีก็ตาม จากความรู้ที่เราเคยมีอยู่ว่า หากอยู่ในพื้นที่ หรือสถานที่ที่ระบายอากาศไม่ดี อากาศนิ่ง ย่อมมีโอกาสสูงที่เชื้อโรคจะแขวนลอยอยู่ในอากาศได้นาน และทำให้คนในพื้นที่หรือสถานที่นั้นมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น
นพ.ธีระ ระบุถึงอัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อ (positivity rate) ของไทยว่า อัตราการตรวจพบว่าติดเชื้อ กลับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (23.87% ณ 22 ตุลาคม 2565) ดังนั้น จึงควรป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ประมาท การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนด จะช่วยลดโอกาสป่วยรุนแรง เสียชีวิต และ Long COVID
และที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ย. 65)
Tags: COVID-19, lifestyle, คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ, ธีระ วรธนารัตน์, ฝุ่น PM 2.5, โควิด-19